วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองในเวทีเลือกตั้ง 66 เป็นไปได้ไหม? ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันของเพื่อไทย

วิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๖

เชื่อว่า เศรษฐกิจของประเทศน่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน เมื่อมีพรรคการเมืองหาเสียงด้วยการกำหนดอัตราค่าจ้างและเงินเดือนโดยไม่ได้คำนวณจาก ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (Consumer Price Index : CPI)

เมื่อพรรคเพื่อไทย ชูนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าปัจจุบันเกือบสองเท่าภายใน ๔ ปี แต่ตอนที่เรียนปริญญาโทผู้เขียนเคยเรียนวิชาที่มีการสอนเกี่ยวกับการคำนวณอัตราค่าจ้างเงินเดือนมา จึงมีข้อสงสัยสงสัยว่า วิธีคิดค่าจ้างขั้นต่ำของพรรคการเมืองพรรคนั้น ใช้ฐานคิดคำนวณจากอะไร ‘หลักการหรือหลักกู’

ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จุ้ยศิริ

ด้วยความที่เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จุ้ยศิริ ปรมาจารย์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ท่านหนึ่งของประเทศ จำได้ว่า ท่านสอนเรื่องการคำนวณอัตราค่าจ้างเงินเดือนว่า ต้องคำนวณจาก ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (Consumer Price Index : CPI)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คือ เครื่องมือทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกของสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการจำนวนหนึ่ง ณ เวลาหนึ่งเทียบกับปีฐาน (Base Year) โดยดัชนีราคาผู้บริโภคกำหนดขึ้นจากความต้องการศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวและการวัดระดับการครองชีพของประชากร เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชากรให้ดียิ่งขึ้น

แนวคิดพื้นฐานของดัชนีราคาผู้บริโภค พัฒนามาจากแนวคิดของดัชนีค่าครองชีพ (Cost of living index) ซึ่งต้องการวัดค่าใช้จ่ายในการบริโภคของผู้บริโภคในเดือนหนึ่งๆ โดยยังรักษามาตรฐานการครองชีพตามระดับที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากมาตรฐานการครองชีพยังขึ้นกับปัจจัยอื่น ได้แก่ รายได้ จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ภาษี คุณภาพสินค้า เทคโนโลยี และราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น จึงได้มีการนำดัชนีราคาผู้บริโภคมาใช้แทนโดยให้มีปริมาณและลักษณะของสินค้าที่คงที่แต่เปลี่ยนแปลงเฉพาะราคาสินค้าเท่านั้น แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะไม่สามารถแทนดัชนีราคาค่าครองชีพได้อย่างสมบูรณ์ แต่อาจกล่าวได้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นตัวประมาณค่าดัชนีค่าครองชีพได้ดีในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการบริโภค 

การแบ่งหมวดสินค้าและบริการ
๑) อาหารและเครื่องดื่ม
๒) เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า
๓) เคหสถาน
๔) การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล
๕) พาหนะ และการเดินทางขนส่ง
๖) การศึกษาและการสื่อสาร
๗) การบันเทิง และการอ่าน
๘) สินค้าเบ็ดเตล็ดและบริการอื่น ๆ

ประโยชน์ของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
- วัดค่าครองชีพของประชากรทุกระดับรายได้
- วัดภาวะเงินเฟ้อระดับจังหวัดและประเทศ
- เป็นมาตรฐานในการปรับค่าจ้าง เงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ และเงินช่วยเหลือสวัสดิการสังคม

- เป็นแนวทางในการปรับค่าจ้างแรงงาน
- ปรับราคาสัญญาก่อสร้าง และราคาที่จะมีการซื้อขายในระยะยาว
- ใช้คำนวณค่าเงินที่แท้จริง (Real value) ของประชาชน
- ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการเงินและการคลังของประเทศ
- ใช้เป็นแนวทางในการวิจัยพยากรณ์การตลาดและราคาสินค้าต่างๆ
- วัดผลสำเร็จในการพัฒนาชนบท (ที่มา: http://oopm.rid.go.th/)

แม้แต่สหรัฐอเมริกาเอง ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ก็ไม่มีการชูนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างอย่างดุเดือดดังเช่นที่พรรคเพื่อไทยชูเป็นนโยบาย อัตราค่าจ้างเฉลี่ยราว ๔๖ ปี ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1964 ถึง ค.ศ. 2018 แม้มีการปรับขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจ แต่เพิ่มขึ้นจาก 2.50 USD (ซึ่งมูลค่าของเงิน 2.50 USD เทียบเท่ากับ 20.27 USD ในปี ค.ศ. 2018) เป็น 22.65 USD ในปี ค.ศ. 2018 หรือเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของเงินที่แท้จริงในราว 11.74% เท่านั้น  
(ที่มา: https://www.pewresearch.org/fact-tank/2018/08/07/for-most-us-workers-real-wages-have-barely-budged-for-decades/)

ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้วนำนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งสูงกว่าปัจจุบันเกือบสองเท่ามาใช้ภายใน ๔ ปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ ผู้ประกอบการ รายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง จะพากันเจ๊งกันเป็นระนาว จนคนตกงานเพิ่มขึ้นมหาศาล ธุรกิจที่อยู่ได้ก็จะใช้แรงงานเครื่องจักรและหุ่นยนต์แทนแรงงานคนมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่ตามมาอย่างแน่นอนก็คือ สินค้าข้าวของและบริการต่าง ๆ ราคาก็จะพุ่งสูงขึ้น ด้วยต้นทุนค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้ค่าจ้างรายวันอาจรู้สึกดีใจที่จะได้ค่าจ้างค่าแรงเพิ่ม แต่ต้องแลกด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม แล้วที่สุดก็จะกลายเป็นผลกระทบกับทุก ๆ ภาคส่วน อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่มีสติและปัญญานั้นจะต้องหาวิธีตรึงและลดค่าครองชีพ ตลอดจนรายจ่ายต่าง ๆ ด้วยนโยบายและวิธีการต่าง ๆ แทนการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างอย่างดุเดือด ผู้เขียนเคยอบรมในต่างประเทศร่วมกับข้ารัฐการของ สปป.ลาว ซึ่งเล่าว่า รัฐบาล สปป.ลาว เพิ่มเงินเดือนให้ข้ารัฐการโดยไม่มีการประกาศเป็นทางการ 

ดังนั้นภาคเอกชนจึงไม่มีการขึ้นราคาสินค้าและค่าแรง ซึ่งเป็นวิธีคิดและแนวทางในการปฏิบัติที่น่าสนใจมาก จึงชวนสงสัยว่า นักการเมืองลาวคงจะมีสติและปัญญามากกว่านักการเมืองไทยเป็นแน่แท้ เพราะการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยไม่คำนึงถึง ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (Consumer Price Index : CPI) ซ้ำร้ายกำหนดราคาค่าแรงโดยไม่คำนวณ ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ ในระดับพื้นที่ เพราะแต่ละจังหวัดมีองค์ประกอบและปัจจัยในการคิดคำนวณที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทของจังหวัดนั้นๆ ที่สุดจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนอย่างแน่นอน


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ