ผบ.ทหารสูงสุด พร้อม ผบ.เหล่าทัพ สังเกตการณ์ฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี ฮาร์พูน บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร

วันนี้ (28 มีนาคม 2566) พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เดินทางไปตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น - สู่ - พื้น แบบ Harpoon  โดย เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เป็นเรือยิงหลัก และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือยิงสำรอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566  


โดยมีพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พลอากาศเอก ชานนท์  มุ่งธัญญา รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมสังเกตการณ์บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ในพื้นที่ทะเลอันดามัน บริเวณระยะ 55 ไมล์  จากแหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต โดยมี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566 ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ในกองอำนวยการฝึกฯ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ ให้การต้อนรับ

 

ตามที่กองทัพเรือ ได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือประจำปี มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงความพร้อมของหน่วยต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ แบ่งการฝึกเป็นวงรอบทุก 2 ปี ตามสถานการณ์ที่ถูกกำหนดขึ้น  


สำหรับการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ถึง 22 มิถุนายน 2566 มีพื้นที่การฝึกทั้งในทะเลและบนบก โดยแบ่งการฝึกเป็น 2 ส่วน คือ การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise: CPX) มีระยะเวลาการฝึกรวม 3 สัปดาห์ ทำการฝึกระหว่าง วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 17 มีนาคม 2566  มีวัตถุประสงค์ เพื่อฝึกการควบคุมบังคับบัญชา และทดสอบแนวความคิดในการใช้กำลังและหลักนิยมต่าง ๆ ของหน่วยบังคับบัญชาในระดับต่าง ๆ และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (Field Training Exercise: FTX) ทำการฝึกระหว่างวันที่ 20 มีนาคม - ถึง 12 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติการของหน่วยกำลังรบประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล รวมทั้งเป็นการทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่าง ๆ รวมถึงการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น - สู่ - พื้น แบบ Harpoon ในครั้งนี้
   

นอกจากนั้น ยังมีการฝึกในหัวข้อสำคัญที่จะทำการฝึกในห้วงต่อไป คือ การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การยิงอาวุธประจำหน่วย และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ของกำลังภาคพื้นดิน ทั้งกำลังจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รวมทั้งกองทัพบก และกองทัพอากาศ ที่ได้จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย  

   
ในขณะเดียวกัน ได้มีการฝึกด้านการส่งกำลังบำรุง (Logistics Exercise: LOGEX) เพื่อทดสอบขีดความสามารถด้านการส่งกำลังบำรุงและการปฏิบัติของหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ พร้อมกันไปด้วย และที่สำคัญ คือ การฝึกในครั้งนี้ ได้มีการเชิญ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ( ศรชล. ) กองทัพบก และกองทัพอากาศ จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในหัวข้อการฝึกต่าง ๆ อีกด้วย


สำหรับ อาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน ได้พัฒนาโดยบริษัท McDonnell Douglas Astronautics Company ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอาวุธปล่อยนำวิถี แบบ พื้น - สู่ - พื้น และอากาศ - สู่ - พื้น เพื่อใช้ทำลายเรือผิวน้ำ ด้วยความเร็ว 60 ไมล์ทะเล ต่อชั่วโมง มีคุณสมบัติถูกออกแบบให้มีหัวรบมีอำนาจทำลายสูง ด้วยดินระเบิดขนาด 500 ปอนด์ สามารถโจมตีเป้าหมายซึ่งมองเห็นได้ หรือที่อยู่ไกลเกินขอบฟ้า สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ สภาวะอากาศ เครื่องค้นหาเป้ามีสมรรถภาพสูง ตรวจจับเป้าได้ในระยะไกล มีขีดความสามารถติดตามเป้าในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี ซึ่งระยะยิงของอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน ที่ไกลที่สุด คือ 75 ไมล์ทะเล และสามารถค้นหาเป้าเรือผิวน้ำภายในพื้นที่รัศมีวงกลมได้มากกว่า 17,500 ตารางไมล์ สามารถทำการยิงได้จากเรือผิวน้ำ ด้วยการใช้แท่นยิงที่ติดตั้งบนเรือผิวน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นแท่นยิงของตัวระบบฮาร์พูนเองหรือแท่นยิงของระบบอาวุธอื่น ๆ ซึ่งได้ปรับปรุงให้สามารถทำการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนได้


ทั้งนี้  กองทัพเรือ ได้เริ่มนำอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน แบบพื้น - สู่ - พื้น เข้าประจำการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยติดตั้งมากับเรือคอร์เวตชุด เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ต่อมาได้ทำการปรับปรุง เครื่องบินแบบ F - 27 MK 200 เมื่อปี พ.ศ.2533 ให้สามารถติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน แบบอากาศ - สู่ - พื้น เพื่อใช้โจมตีเรือผิวน้ำ ต่อมาเรือที่เข้าประจำการในกองทัพเรือหลายลำ ก็ได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนเป็นอาวุธหลัก ได้แก่ เรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร 2 ลำ ( เรือหลวงนเรศวร และ เรือหลวงตากสิน ปัจจุบันประจำการอยู่ใน กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ) เรือฟริเกตชุด เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 2 ลำ เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย ปัจจุบันปลดประจำการ)            

โดยการยิงอาวุธปล่อย นำวิถี ฮาร์พูน ในครั้งนี้ ใช้เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เป็นเรือยิง มี พลเรือตรี วรพาท รัตตะสังข์ ผู้บัญชาการกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ เป็นผู้บังคับหมวดเรือยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน ซึ่งผลจากการยิง อาวุธปล่อยนำวิถี สามารถทำลายเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไป 55 ไมล์ ( 101.86 กิโลเมตร) ได้อย่างแม่นยำ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของอาวุธปล่อยนำวิถีชนิดนี้

นอกจากนั้นการยิง อาวุธปล่อยนำวิถีฮาพูน ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ที่มีการยิงจากเรือที่ต่อขึ้นเองภายในประเทศ โดยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 ที่กองทัพเรือขออนุมัติกระทรวงกลาโหม ดำเนินการต่อขึ้นจากแบบเรือที่กองทัพเรือ มีใช้ราชการ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ด้วยการน้อมนำและยึดถือการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยใช้แบบเรือของเรือหลวงกระบี่ ที่กองทัพเรือ ได้ต่อขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เป็นแบบพื้นฐาน


คุณลักษณะทั่วไปของเรือ

- มีความยาวตลอดลำ 90.50 เมตร กว้าง 13.50 เมตร

- ความยาวที่แนวน้ำ 83.00 เมตร กินน้ำลึก 3.70 เมตร

- ระวางขับน้ำไม่น้อยกว่า 1,960 ตัน- ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 23 นอต (ที่ Full load)

- ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 3,500 ไมล์ทะเล (ที่ความเร็วเดินทางไม่ต่ำกว่า 15 นอต)

- ระบบอาวุธประจำเรือ- ปืนขนาด 76/62 มิลลิเมตร แบบอัตโนมัติ รุ่น Multi – Feeding Vulcano Super Rapid จำนวน 1 ระบบ

- ปืนกลขนาด 30 มิลลิเมตร แท่นเดี่ยว รุ่น Seahawk MSI-DS30MR จำนวน 2 กระบอก

- ปืนกลขนาด 0.50 นิ้ว M2 จำนวน 2 กระบอก

- อาวุธปล่อยนำวิธีพื้นสู่พื้น Harpoon Block II แบบ Advanced Harpoon Weapon Control System จำนวน 1 ระบบ ประกอบด้วย 2 แท่น แท่นละ 4 ท่อยิง ระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ 1 ระบบ ประกอบด้วย ระบบอำนวยการรบ ระบบควบคุมการยิงระบบตรวจการณ์ ระบบเดินเรือแบบรวมการ ระบบสื่อสารแบบรวมการ และการออกแบบให้มีขีดความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์
   

- เครื่องยิงเป้าลวง ( Decoy Launcher ) จำนวน 2 แท่น ขีดความสามารถ (Combat Capability)- สามารถออกปฏิบัติงานในทะเลอย่างต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติม - สามารถปฏิบัติการได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5)- สามารถตรวจการณ์ และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้าและเป้าอากาศยานได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน- สามารถโจมตีเป้าพื้นน้ำในระยะพ้นขอบฟ้า ได้ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี- สามารถป้องกันภัยทางอากาศในระยะประชิดได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ- สามารถทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ โดยติดตั้งอุปกรณ์ ESM และออกแบบให้รองรับการติดตั้งเชื่อมต่อการใช้งานระบบเป้าลวงได้- สามารถปฏิบัติงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ ขนาดไม่ต่ำกว่า 11.5 ตัน ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน- สามารถรองรับกำลังพลได้ไม่น้อยกว่า 115 นาย (กำลังพลประจำเรือ 99 นาย และปฏิบัติการทางอากาศ 16 นาย)