‘ศธ.’ เสนอ ‘ยูเนสโก’ ดัน ‘ครูบาศรีวิชัย’ บุคคลสำคัญของโลก ด้าน ‘การศึกษา-ศาสนา-วัฒนธรรม-สันติภาพ’

วันนี้ (17 มี.ค.66) ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการร่วมคณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ร่วมรับฟังข้อเสนอการสนับสนุนแผนแม่บทโครงการเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นบุคคลสำคัญของโลก และติดตามการดำเนินงานในจังหวัดเชียงใหม่ว่า ศธ.มีบทบาทหลักในการสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนการเสนอชื่อ ครูบาเจ้าศรีวิชัย (อินท์เฟือน สีวิเชยฺย) ให้ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ ในวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย ในปี พ.ศ. 2571 ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

สำหรับ ‘ครูบาศรีวิชัย’ หรือ ‘พระสีวิไชย’ เป็นพระเถระชาวจังหวัดลำพูน ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและบูรณะพุทธศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า ‘ตนบุญแห่งล้านนา’

ครูบาศรีวิชัยเกิดเมื่อวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2421 ปีขาล เวลาพลบค่ำ ขณะนั้นมีพายุฟ้าร้องรุนแรง จึงตั้งชื่อว่า อินตาเฟือน หรือ อ้ายฟ้าร้อง บิดาชื่อควาย ส่วนมารดาชื่ออุสา นายควายบิดาเป็นบุตรของนายอ้าย กับนางน้อยธิดาของหมื่นผาบ (มาต่า) หมอคล้องช้างชาวกะเหรี่ยงแดงจากเมืองกันตรวดีที่เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ชวนมาอยู่ลำพูนด้วยกัน ส่วนนางอุสามารดาของท่าน บางแห่งว่าเป็นชาวเมืองเชียงใหม่ บ้างว่าเป็นธิดาหนานไจยา ชาวเมืองลี้ เพ็ญสุภา สุขคตะสรุปว่าครูบาศรีวิชัยมีเชื้อสายกะเหรี่ยงแดงจากฝั่งบิดา และอาจมีเชื้อสายกะเหรี่ยงขาวและยองจากฝั่งมารดา

เมื่ออายุได้ 18 ปี ท่านคิดว่าชาตินี้เกิดมายากจนเพราะในอดีตไม่ได้ทำบุญไว้เพียงพอ จึงควรออกบวชรักษาศีลปฏิบัติธรรมไว้เพื่อประโยชน์สุขในภายหน้า และจะได้ตอบแทนพระคุณมารดาบิดาทางหนึ่งด้วย ท่านจึงลาบิดามารดาไปอยู่วัดบ้านปาง ศึกษาเล่าเรียนและบวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์ขัติยะ (หรือครูบาแข้งแขะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) จนอายุได้ 21 ปีจึงได้อุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาในการอุปสมบทว่า ‘สีวิเชยฺย’ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย

หลังจากอุปสมบท ท่านได้ศึกษาไสยศาสตร์กับครูบาขัตติยะและครูบาอุปปละ แล้วมาศึกษากรรมฐานกับพระอุปัชฌาย์ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง เมื่อกลับมาอยู่วัดบ้านปาง ท่านมักเจริญภาวนาในป่า ฉันภัตตาหารมื้อเดียว ฉันมังสวิรัติ ไม่ฉันของเสพติด เช่น หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ทำให้ประชาชนเลื่อมใสท่านมาก เมื่อท่านทราบว่าที่ใดยังขาดเสนาสนะที่จำเป็นหรือกำลังชำรุดทรุดโทรม ท่านจะเป็นผู้นำชาวบ้านไปก่อสร้างจนสำเร็จ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือการถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่มีระยะทางทั้งหมด 11.530 กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 แล้วเสร็จในวันที่ 30 เมษายน 2478

ชื่อเสียงของครูบาเจ้าศรีวิชัย ทำให้พระสังฆาธิการในจังหวัดลำพูนบางรูปนำโดยเจ้าคณะจังหวัดลำพูนตั้งอธิกรณ์กล่าวหาว่าท่าน 8 ข้อ เช่น ทำตัวเป็น “ผีบุญ” อวดอิทธิฤทธิ์ ซ่องสุมกำลังผู้คน คิดขบถต่อบ้านเมือง และนำท่านไปจำไว้ที่ลำพูนและวัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ จากนั้นจึงได้ส่งตัวท่านไปไต่สวนที่กรุงเทพฯ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องพระศรีวิชัย ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ พระญาณวราภรณ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) และพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ได้ถวายรายงานมีความเห็นว่า ข้อ 1-5 ซึ่งเกี่ยวกับการไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายปกครอง พระศรีวิชัยรับสารภาพและได้รับโทษแล้ว ข้อที่เหลือซึ่งเกี่ยวกับการอ้างคุณวิเศษ พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เพราะประชาชนเล่าลือไปเอง และเจ้าคณะลงโทษเกินไป ควรปล่อยพระศรีวิชัยกลับภูมิลำเนา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณโรรสทรงเห็นชอบ

ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 (เมื่อก่อนนับศักราชใหม่ในวันสงกรานต์ ถ้าเทียบปัจจุบันจะเป็นต้นปี พ.ศ.2482) ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้

ส่วนที่ 1 บรรจุที่ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
ส่วนที่ 2 บรรจุที่ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนที่ 3 บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
ส่วนที่ 4 บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยk
ส่วนที่ 5 บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
ส่วนที่ 6 บรรจุที่ วัดน้ำฮู จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ส่วนที่ 7 บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน


ที่มา : https://www.naewna.com/likesara/718169