คอกาแฟเฮ!! ผลวิจัย ชี้ ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว ทั้ง 'ใส่-ไม่ใส่' น้ำตาล เลี่ยงการเสียชีวิตได้ลดลง 30% จากทุกสาเหตุ

(10 มี.ค.66) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ 'คอกาแฟได้เฮ ชีวิตอยู่ยาว?' ว่า...

มนุษย์โลกได้รับทราบสรรพคุณของกาแฟมาเนิ่นนาน เช่นเดียวกับคนไทยและคนทำงานที่ไม่เป็นเวลา เป็นกะกลางวันบ้าง กลางคืนบ้าง ทั้งอาชีพยาม อาชีพหมอ ที่ต้องพึ่งกาแฟเป็นอาจิณ นัย ว่า เป็นกลายๆ ทำงานติดกัน 36 หรือไม่ก็ยาวถึง 48 เกือบ 72 ชั่วโมงก็มี ใช้วิธียืนหลับ นั่งหลับ และได้กาแฟเป็นที่พึ่ง

สรรพคุณของกาแฟนั้น หมอดื้อได้เคยเล่าให้ฟัง ในคอลัมน์สุขภาพหรรษา มา ก่อนหน้านี้ และมีการศึกษาในเรื่องของการดื่มกาแฟและทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้นหรือความเสี่ยงในการตายน้อยลง  เช่น การศึกษาในกลุ่มประเทศยุโรป 10 ประเทศ รายงานในวารสาร สมาคมอายุรแพทย์ของอเมริกา (Ann Intern Med) ในปี 2017 และในปีเดียวกันนั้นเอง ในวารสาร เดียวกัน แต่เป็นการศึกษาในคนที่ไม่ใช่ผิวขาว และจนกระทั่งการศึกษาที่เกี่ยวพันกับภาวะสุขภาพ และการเกิดโรคหัวใจ มะเร็ง และนิ่วในถุงน้ำดีรวมทั้งโรคต่าง ๆ ในวารสารทางด้านโภชนาการของยุโรปในปี 2022 ก็พบว่ามีประโยชน์คล้ายกัน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของกาแฟ ยังเป็นเรื่องที่มีผู้คนอยากรู้ว่า จะดื่มกาแฟแบบไหนดี ชนิดคั่ว หรือต้ม แบบชนิดกรองหรือไม่กรอง  และประการสำคัญก็คือ ถ้าใส่น้ำตาลหรือน้ำตาลเทียมลงไปจะลดความดีของกาแฟลงหรือไม่

โดยที่มีการประเมินในปี 2022 ว่าคนอเมริกันดื่มกาแฟวันละ 517 ล้าน แก้ว และเมื่อสอบถามเป็นรายตัวก็ยังพบว่า 66% รายงานว่าเมื่อวานก็ยังดื่มกาแฟอยู่

กาแฟนั้น มีสารที่มีคุณประโยชน์อยู่หลายชนิด และทั้งนี้ เชื่อว่ากลไกในการทำให้สุขภาพดีต่อสู้โรค มีส่วนเกี่ยวพันกับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ที่ได้จากคาเฟอีน และ chlorogenic acids และยังมีคุณสมบัติในการต้านเลือดข้น โดยผ่านกลไกทางเกร็ดเลือด

ดังนั้น น่าจะช่วยอธิบายที่กาแฟนั้น ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหรือลิ่มเลือดอุดตันต่าง ๆได้ และแม้กระทั่งในปัจจุบัน กาแฟเป็นอีกตัวหนึ่งที่มีการศึกษาว่าจะสามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นกาแฟชนิดต้มหรือแบบไม่ได้กรอง จะมีสาร Cafestol รวมกับ ส่วนประกอบ อื่น ๆที่ทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้นได้ แต่ไม่มากนัก และกาแฟมีฤทธิ์ทำให้มีความดันสูงขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ หลังดื่ม แต่แล้วความดันก็ลดลงตามปกติสู่สภาพเดิม ทั้งนี้จากการติดตามคนที่ดื่มกาแฟในระยะยาว

แต่ผลการศึกษาทั่วไป แสดงให้เห็นถึงว่า กาแฟเมื่อดื่มอย่างบันยะบันยัง ช่วยอายุยืนดังข้างต้น แต่ถ้าดื่มปริมาณสูงเกินไปจะทำให้ประโยชน์ลดลงได้ โดยปรากฏเป็นรูปตัว ยู (U) โดยนึกถึงอักษรตัว ยู ดื่มในปริมาณพอเหมาะ โรคและการตายก็น้อยลง เป็น ขาลง แต่มากไป กลายเป็นขาขึ้นและเทียบเท่ากับคนที่ไม่ดื่มกาแฟเลย

การศึกษาล่าสุดนี้ ตีพิมพ์ ในวารสาร ฉบับเดียวกันนี้ คือ Ann Intern Med ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2022 ดูแล้วไม่ใช่ทำง่ายๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าการใส่น้ำตาลหรือน้ำตาลเทียมในกาแฟกลับทำให้สุขภาพแย่ลงไปหรือทำให้ประโยชน์ของกาแฟลดลงหรือเปล่า

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่เก็บในคลังข้อมูลของอังกฤษ (UK Biobank study) ระหว่างปี 2009 จนกระทั่งถึง 2012 มีจำนวนคนเข้าร่วมการศึกษา 171,616 คน ที่มีอายุระหว่าง 37 ถึง 73 ปี ในศูนย์วิจัย 22 แห่งในอังกฤษ

การศึกษานี้ ให้ผลเหมือนกับรายงานก่อนหน้านั้น ที่การดื่มกาแฟที่มีและไม่มีคาเฟอีน จะช่วยลดอัตราตายจากทุกสาเหตุ และที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งและที่เกี่ยวกับโรคของหัวใจและเส้นเลือด

โดยทั้งนี้ ลดความเสี่ยงของการตายลงได้ประมาณ 30% โดยที่จะเป็นกาแฟที่ไม่ใส่ หรือใส่น้ำตาลและน้ำตาลเทียมก็ตาม โดยกลุ่มที่ไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำตาลเทียม การดื่มประมาณสามแก้วหรือสามถ้วยกาแฟจะช่วยลดการตายได้ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ดื่มกาแฟเลย ส่วนในกลุ่มที่ใส่ความหวาน การดื่มประมาณสองแก้วจะได้ผลดีที่สุด แต่ในข้อมูลรายละเอียดนั้น การดื่มไปถึง สามแก้วครึ่ง จนถึงสี่แก้วครึ่ง ก็ยังคงได้ประโยชน์

ทั้งนี้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นกาแฟบด หรือกาแฟอินสแตนท์ ก็ตาม

แต่ทั้งนี้ การดื่มมากเกินไปก็จะลดความดีงามของกาแฟไป โดยความเสี่ยงของการเสียชีวิตจะกลับไปเท่ากับคนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ

มีบางข้อที่การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัด และเป็นการตั้งข้อสังเกตในบทบรรณาธิการว่า ก่อนที่ทุกคนจะวิ่งรี่ไปดื่มกาแฟที่เรียกว่าคาราเมล มัคคิอาโต้ (caramel macchiato) ที่เป็นกาแฟที่มีส่วนผสมของคาราเมล นมสด ฟองนมราดข้างบนด้วยคาราเมล ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ชอบความเข้มข้นของเอสเพรสโซ่ และที่มีความหอมและหวานด้วย แต่มีปริมาณของน้ำตาลถึง 15 กรัมในแก้วขนาดแปดออนซ์  และต่างกับกาแฟที่อยู่ในการศึกษานี้ที่มีขนาดปริมาณของน้ำตาล อยู่ที่ประมาณหนึ่งช้อนชาหรือ 4 กรัม ดังนั้น ผลการศึกษานี้อาจยังไม่ตอบโจทย์

นอกจากนั้น การศึกษาสรรพคุณทางด้านสุขภาพของกาแฟ เท่าที่ผ่านมา เป็นการศึกษาในระยะยาวและเป็นการเฝ้าสังเกตุ และวิเคราะห์ (observational) ซึ่งแม้ว่าจะควบคุมตัวแปรต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อควบรวมกับสรรพคุณของสารในกาแฟที่มีฤทธิ์ต่าง ๆ นั้น ทำให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และการศึกษาที่ผ่านมายังมีผลคล้องจองกันตลอดมา โดยที่แม้ว่า จะมีการศึกษาโดยการพยายามใช้ดัชนีสุขภาพต่าง ๆ ทางยีน หรือพันธุกรรมของมนุษย์บางตัว แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายผลดีต่อสุขภาพของกาแฟ

บทสรุป ที่เกี่ยวกับกาแฟตามความเห็นของบรรณาธิการของวารสารว่า แล้วหมออย่างเรา ๆ เมื่อมีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว มาถามว่า จะดื่มกาแฟได้หรือไม่ และใส่น้ำตาลลงไปได้อีกไหม

คำตอบที่สามารถให้ได้ด้วยข้อมูลดีที่สุดขณะนี้ก็คือ ใครที่ดื่มกาแฟอยู่แล้วก็ไม่ต้องเลิกดื่ม แต่คงไม่ถึงขนาดที่จะใส่ความหวานเข้าไปจนเต็มพิกัด แบบคาราเมล และจะมีชีวิตยืนยาวหรือลดความเสี่ยงของการตายลงได้เท่าไหร่นั้น คงตอบว่าช่วยได้ อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง และดื่มอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะดังข้างต้น

และหมอขอเสริมเติมว่า ยังขึ้นอยู่กับแต่ละคนซึ่งอาจจะมีความไวต่อกาแฟไม่เท่ากันโดยที่มีหัวใจเต้นเร็วหรือใจสั่น แม้ว่าจะดื่มในปริมาณน้อย ถ้าเช่นนั้นก็อาจไม่ต้องดื่ม

แต่คนที่ดื่มอยู่แล้ว มักจะรู้ตัวเองว่าควรจะดื่มในระดับใด เพราะในปริมาณที่มากสำหรับตนเองจะมีใจสั่นเป็นเครื่องป้องกัน ก็คงอยู่ในระดับเดิมนะครับ

แต่แน่นอนก็คือ ถ้าขาดการควบคุมสุขภาพ ขาดการออกกำลังกาย ยังคงทานอาหารที่ร้อนแรง ที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และไม่ควบคุมโรคประจำตัว การดื่มกาแฟคงไม่ได้ช่วยอะไรมากนักนะครับ


ที่มา: https://www.facebook.com/100064749694453/posts/pfbid02KdXcUc5QdCpxcEiHrPqGXwgFtS8GDRnDAiZfNQ7WyHS98dz9zas19PvA7FosskSPl/?mibextid=Nif5oz