หลังม่าน WW2 คราบน้ำตาของชาวญี่ปุ่น บนผืนธงชาติอเมริกา เมื่อค่ายกักกันยุ่น มีสภาพไม่ต่างจากนรกบนดิน

จริงๆ แล้ว อเมริกาซ่อนจุดด่างดำอัปลักษณ์ไว้ใต้ผืนธงชาติมากมาย เลยต้องคุ้ยประวัติศาสตร์บางด้านมาเล่าสู่กันฟัง  

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นการรบกันระหว่างมหาอำนาจสองขั้วคือ ฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตร  

ฝ่ายอักษะคือ ญี่ปุ่น, เยอรมัน และอิตาลี ส่วนสัมพันธมิตรคือ ฝรั่งเศส, อังกฤษ, รัสเซีย และจีน ส่วนอเมริกาตอนนั้นยังนอนแคะสะดือดูสถานการณ์ ไม่ได้ร่วมหัวจมท้ายกับใครช่วงต้นสงคราม  

แต่อเมริกานอนเกาไข่เล่นได้ไม่นาน เช้าตรู่วันที่  7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ฝูงบินญี่ปุ่นก็ถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ที่ฮาวาย ทหารอเมริกันตายเพียบ เล่นเอาอเมริกันทั้งประเทศเต้นผางอย่างโกรธแค้น ชะ..ไอ้พวกแจ้บ (คำนี้ใช้เรียกชาวญี่ปุ่นในอเมริกาเวลานั้น) บังอาจมาหย่อนระเบิดบ้านกูได้

อเมริกันนั้นยัวะมาก ประกาศสงครามดังลั่นโลก พอวันรุ่งขึ้นวันที่ 8 ธันวาคม ลุงแซมประกาศสงครามกับญี่ปุ่นทันที แถมแรงแค้นยังกระเพื่อมไปถึงชาวญี่ปุ่นทุกคนในอเมริกา โดยเฉพาะฮาวาย ซึ่งเวลานั้นมีชาวญี่ปุ่นมาตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก รัฐบาลอเมริกันออกกฎหมายบังคับให้คนญี่ปุ่นในอเมริกา ทิ้งบ้านเรือนร้านค้า แล้วกวาดต้อนเข้าไปอยู่ในค่ายกักกัน ถึงแม้ชาวญี่ปุ่นเหล่านั้นจะได้สัญชาติอเมริกันก็ตาม หรือแม้แต่ชาวญี่ปุ่นที่เกิดในอเมริกา ซึ่งได้สัญชาติอเมริกันตั้งแต่เกิด แต่รัฐบาลไม่แคร์กับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเหล่านี้แต่อย่างใด

ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ออกคำสั่งฝ่ายบริหารที่ 9066 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942  มอบอำนาจให้ผู้บังคับบัญชาทหารท้องถิ่นกำหนด "พื้นที่ทหาร" เพื่อลงดาบบุคคลใดก็ตามที่มีบรรพบุรุษชาวญี่ปุ่น พูดง่ายๆ คือลากพวกนี้ไปเข้าค่ายกักกันให้หมดนั่นเอง  

คำสั่งนี้เหมือนฝันร้าย ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นนับแสนต้องทิ้งบ้านเรือนร้านค้าที่ตัวเองเป็นเจ้าของ  เอาติดตัวไปแต่เพียงเสื้อผ้า เพื่อเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันตามคำสั่ง แถมรัฐยังยึดที่ดิน ร้านค้า บ้านเรือน ทรัพย์สินของอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้หลายครอบครัวหมดตัวในพริบตา 

สิ่งที่รัฐบาลอเมริกันทำในเวลานั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากนาซีเยอรมันกระทำต่อชาวยิวเลยแม้แต่น้อย แต่ละครอบครัวได้รับหมายเลขยืนยันตัวบุคคล สนามแข่งม้าแซนตาแอนิตาในลอสแอนเจลิสเป็นศูนย์แรกรับใหญ่ที่สุด รองรับได้มากกว่า 18,000 คน และเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผู้คนถูกบังคับให้อาศัยอยู่ในคอกม้าอย่างแออัดยัดเยียด

แม้อเมริกาเพิ่งเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองในตอนท้าย และพลอยฟ้าฟลอยฝนได้รับชัยชนะไปด้วยในที่สุด แต่ความเกลียดชังและอคติที่มีต่อชาวญี่ปุ่นในอเมริกายังไม่จางหายไป ยังมีการคุมขังต่อเนื่อง มีการปล่อยตัวชาวญี่ปุ่นเหล่านี้บ้าง ก็เฉพาะที่ถูกคัดสรรแล้วว่าจงรักภักดีต่ออเมริกาจริง นอกนั้นถูกกักขังกักกันต่ออีกหลายปี แม้กระทั่งทารกแรกเกิดที่เกิดในค่ายกักกันก็ไม่ได้รับการปล่อยตัว 

ค่ายกักกันชาวญี่ปุ่นมีทั้งสิ้น 10 แห่งในหลายรัฐ ทั้งแอริโซน่า อาคันซอร์ แคลิฟอร์เนีย โคโลราโดไอดาโฮ ยูทาห์ และไวโอมิ่ง  ทั้งหมดตั้งอยู่ในสถานที่ทุรกันดาร มีสภาพความเป็นอยู่เลวร้าย ค่ายปรับทัศนคติที่รู้จักกันดีที่สุด คือ ค่าย Manzanar ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาเซียร์ร่า เนวาดา  

ค่ายกักกันทุกแห่งมีสภาพไม่ต่างจากนรกบนดิน   หลายคนตาย เพราะถูกเจ้าหน้าที่ยิง เพียงแค่เดินเฉียดกำแพงค่าย ช่วงเวลาฝันร้ายในค่ายกักกันกินเวลาประมาณ 3 ปี มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยราว 2,000 คน จนกระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม 1944 มีการประกาศยกเลิกกักกัน แต่เมื่อออกจากค่ายกักกันต้องเผชิญฝันร้ายซ้ำสอง เพราะสิ้นเนื้อประดาตัวทุกครอบครัว

ในปี 1980 มีการกดดันให้ประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ สอบสวนกรณีการที่มีการกวาดต้อนคนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเข้าค่ายกักกันจำนวนทั้งสิ้นหนึ่งแสนสองหมื่นคนโดยปราศจากความผิด ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ลงนามในกฎหมายพระราชบัญญัติเสรีภาพพลเรือน เพื่อขอโทษชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น พร้อมชดใช้เงินให้กับผู้ที่รอดชีวิตราว 8 หมื่นกว่าคน คนละ 20,000 ดอลลาร์ หรือเทียบเป็นเงินไทยได้ประมาณหกแสนบาท ส่วนภาพความเป็นอยู่ในค่ายกักกันถูกปกปิดมายาวนานหลายสิบปี  และเพิ่งได้รับการเผยแพร่ในปี 2006 ที่ผ่านมานี้เอง
.
วันที่ 20 ก.พ. ปี ค.ศ. 2020 สภาแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียขอโทษเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่ถูกนำไปเข้าค่ายกักกัน มีการผ่านร่างมติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กาวิน นิวซัม ประกาศให้วันที่ 19 ก.พ. เป็นวันแห่งการรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ ส่วนผู้ว่าการรัฐไอดาโอและอาร์คันซอก็ประกาศให้วันที่ 19 ก.พ. เป็นวันรำลึกถึงเรื่องนี้เช่นกัน 
.
นี่คือประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง บนผืนแผ่นดินที่ประกาศหลักการเรื่องความเท่าเทียม และสร้างภาพลวงตาให้ชาวโลกเชื่อว่าที่นี่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้