ฝ่ายค้าน เดินหน้าล่าชื่อขยี้ซ้ำ จ่อยื่นศาล เพิ่มตัดสิทธิเลือกตั้ง

ฝ่ายค้านคึก! ล่าชื่อส่งศาล รธน.วินิจฉัย ‘ศักดิ์สยาม’ เพิ่มอีกหนึ่งคำร้องใหม่ หลังเคยยื่นแล้วโดนสภาฯ ตีกลับ รอบนี้มีตัดสิทธิลงเลือกตั้ง

(6 มี.ค. 66) นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณีเรื่อง หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จนนำมาสู่การยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลได้มีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่การเป็น รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้ทำการติดต่อพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน โดยฝ่ายค้านเห็นว่า ควรจะมีการล่าชื่อส.ส.ฝ่ายค้านยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีของนายศักดิ์สยาม อีกหนึ่งคำร้องเพิ่มเติม โดยเป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ นายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรณีอาจละเมิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 (บทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี)

“การยื่นคำร้องดังกล่าว ต้องมี ส.ส.ฝ่ายค้านร่วมลงชื่อด้วยขั้นต่ำหนึ่งในสิบของจำนวน ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตอนนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบยอดตัวเลข ส.ส.ปัจจุบัน พบว่า หนึ่งในสิบก็คือ สี่สิบคน ในการร่วมลงชื่อ แต่ปัญหาคือตอนนี้สภาปิดสมัยประชุมแล้ว และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ แต่ฝ่ายค้านก็จะพยายามรวบรวมรายชื่อให้ได้ก่อนที่จะมีการยุบสภา โดยใจจริงก็อยากทำให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้เลย แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้ครบหรือไม่ ซึ่งหลังได้รายชื่อแล้ว ก็จะยื่นตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย ไม่ต้องผ่านประธานสภาฯ” นายปกรณ์วุฒิ ระบุ

สำหรับคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่นั้น ไม่ได้มีเรื่องของการตัดสิทธิการเมือง เพราะเป็นการยื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ฯ ที่เป็นเรื่องการให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีและการให้เว้นวรรคจากการเป็นรัฐมนตรีสองปี แต่คำร้องที่จะยื่นใหม่ จะเป็นการยื่นตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ที่มีเรื่องของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย

อนึ่งก่อนหน้านี้ ฝ่ายค้านได้เคยร่วมกันลงชื่อยื่นคำร้องลักษณะดังกล่าว ให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันนี้ 25 ม.ค. 2566 แต่ต่อมา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือถึงนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่าการยื่นคำร้องดังกล่าว ที่ฝ่ายค้านใช้ช่องทาง มาตรา 82 ส่งเรื่องถึงประธานสภาฯ เพื่อขอให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น ทางสภาฯตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง ซึ่งไม่ใช่เหตุที่รัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวได้กำหนดไว้ อันจะทำให้ประธานสภาฯ สามารถเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ทางสภาฯจึงเสนอแนะให้ฝ่ายค้าน เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้โดยตรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม หรือการยื่นตรงไม่ต้องผ่านประธานสภาฯ


ที่มา : Thaipost