HIGHWAY TO HELL วิเคราะห์ 'ถนนสายย่างกุ้ง-เนปิดอว์-มัณฑะเลย์' เหตุใด 587 กม.นี้ จึงมีแต่ 'อุบัติเหตุ' และ 'ความตาย'

เกิดอุบัติเหตุใหญ่เมื่อเช้าของวันที่ 4 มีนาคม เมื่อมีรถโดยสารระหว่างเมืองย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์นี้นับ 10 รายและมีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตคืออดีตแชมป์มวยคาดเชือกของเมียนมานาม Shwe Du Wun  

วันนี้จึงมีเหตุให้เรามาทำความรู้จักกับถนนเส้นนี้กัน..

เส้นทางไฮเวย์ 'สายย่างกุ้ง-เนปิดอว์-มัณฑะเลย์' ได้ชื่อว่าเป็นถนนแห่งความตาย เพราะตั้งแต่ถนนเส้นนี้เปิดใช้มีคนต้องสังเวยชีวิตให้กับถนนเส้นนี้แล้วนับหลายร้อยศพและเกิดอุบัติเหตุบนถนนเส้นนี้นับร้อยๆ ครั้งต่อปี 

เส้นทางไฮเวย์ 'สายย่างกุ้ง-เนปิดอว์-มัณฑะเลย์' เส้นนี้ มีระยะทาง 587 กิโลเมตรนับจากหัวถนนที่นอกเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเปิดใช้เมื่อธันวาคม 2010 โดยถนนเส้นนี้ทำการลดระยะเวลาการเดินทางไปยังมัณฑะเลย์จากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง 13-15 ชั่วโมงให้เหลือเพียง 7-8 ชั่วโมงเท่านั้น  

ว่ากันว่าถนนเส้นทางนี้วางแผนการสร้างกันมาตั้งแต่ปี 1954 โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ Naypyitaw ของรัฐบาล U Nu ต่อมาในปี 1959 ทางสหรัฐอเมริกาเข้ามาเสนอความช่วยเหลือด้านการสำรวจและวิศวกรรมทางหลวงเป็นจำนวนเงิน 750,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งการสำรวจได้เสร็จสิ้นในปี 1960 แต่เนื่องจากต้นทุนการสร้างที่สูง จึงทำให้รัฐบาลในตอนนั้นชะลอแผนการสร้างออกไปจนเมื่อเกิดการปฎิวัติในปี 1962 สหรัฐอเมริกาก็เริ่มจะถอยห่างออก 

จากนั้นแม้จะมีการสร้างมาเป็นระยะๆ แต่โครงการก็ขับเคลื่อนไปอย่าช้าๆ และหยุดชะงักเป็นช่วงๆ จนกระทั่งในปี 2005 จึงเริ่มมีการก่อสร้างอีกครั้งอย่างจริงจังจนสำเร็จและเปิดใช้ในช่วงสิ้นปี 2010 และเส้นนี้ยังมีการทำต่อเพิ่มเติมในเมืองย่อยๆ ของมัณฑะเลย์อีกในช่วง Saga-In ไป Tagundaing ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2011

ทว่า จากการสร้างถนนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย ทำให้ถนนที่สร้างขึ้นมานี้ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น ถนนไม่รับโค้ง ทำให้รถที่วิ่งมาด้วยความเร็วส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุหลุดโค้ง รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ไม่มีรั้วกั้นระหว่างทางหลวงกับชุมชนข้างเคียง ทำให้เกิดอุบัติเหตุอันที่เกี่ยวข้องกับคนและสัตว์เลี้ยงของชุมชนที่อยู่ข้างเคียงเรียงรายตามเส้นทางไฮเวย์ดังกล่าว  

ขณะที่แสงสว่างในยามค่ำคืนอันน้อยนิด ก็ทำให้มีข่าวว่าเคยมีโจรดักปล้นรถที่วิ่งบนถนนดังกล่าวในเวลากลางคืน อีกทั้งสถานีบริการน้ำมันและจุดพักริมทางก็มีไม่มาก รวมถึงไฟป่าในหน้าแล้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วบริเวณป่า 2 ข้างทางถนนเส้นนี้

หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ก็เริ่มมีการบูรณะปรับปรุงเส้นทางนี้ให้ใหญ่ขึ้นและมีมาตรฐานมากขึ้นในปี 2014 โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ เช่น USAID, JICA และ KOICA แต่หลังจากเกิดการปฎิวัติครั้งนี้ ทำให้เม็ดเงินที่อัดฉีดในการบูรณะถนนไม่มีเหมือนดังเดิม ส่งผลใกเถนนไฮเวย์เส้นนี้ที่เริ่มดีขึ้นบ้าง ก็ทรุดโทรมไปตามสภาพของประเทศที่ฝนแปดแดดสี่

ก็หวังว่าจะมีการปรับปรุงถนนเส้นนี้ ให้เป็นถนนหลวงหรือไฮเวย์ที่มีความมาตรฐานอย่างจริงจังต่อไป เพื่อลดอุบัติเหตุ และอุบัติภัยที่เกิดขึ้น ช่วยผู้โดยสารระหว่างเมืองทุกคนเดินทางได้อย่างอุ่นใจ


เรื่อง: AYA IRRAWADEE