'บิ๊กตู่' สั่ง ทุกฝ่ายจัดการอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด พร้อมเร่งพัฒนาระบบป้องกันบริการธุรกรรมออนไลน์

(22 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ของไทย ที่สร้างความเสียหายให้ประชาชนคนไทยเพิ่มขึ้นทุกปี เชื่อมั่นว่า เมื่อร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.... มีผลบังคับใช้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยธนาคารสามารถระงับธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือต้องสงสัยได้ทันที

นายอนุชา กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 มีการแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี เท่ากับมีสถิติคดีแจ้งความประมาณ 1,000 รายต่อวัน มูลค่าความเสียหาย 29,546,732,805 บาท สามารถติดตามอายัดบัญชี 65,872 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท มีผู้เสียหายสูงสุดมูลค่าถึง 100 ล้านบาท จึงเป็นสถานการณ์ขั้นวิกฤต ส่วนรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพ 5 อันดับแรก ได้แก่

1.) การหลอกลวงซื้อสินค้า
2). การโอนเงินหารายได้พิเศษ
3.) การหลอกให้กู้เงิน
4.) คอลเซ็นเตอร์
5.) การหลอกให้ลงทุน

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้พิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไข ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอออกพระราชกำหนดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพิ่มอำนาจในการสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เท่าทัน

ซึ่งการร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership PPP) เป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ล่าสุดได้ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ... ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

นายอนุชา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และ NT ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ได้ร่วมกันดำเนินการ ดังนี้

1.) ตรวจสอบปิดไลน์ปลอมของธนาคาร
2.) ควบคุมและจัดการชื่อผู้ส่ง SMS (SMS Sender) ปลอม
3.) ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตราย

พร้อมทั้งหารือแนวทางกับธนาคารสมาชิก พัฒนาระบบความปลอดภัย แชร์เทคนิคและแนวทางการป้องกันภัย เช่น พัฒนาการป้องกันและควบคุมบริการธุรกรรมออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน (Mobile Banking Application) กรณีมือถือมีการเปิดใช้งาน Accessibility Service, เพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ด้วย Biometrics Comparison เช่น ลายนิ้วมือ, รูม่านตา และโครงสร้างใบหน้า เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน ในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน จึงได้สั่งการกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินงานปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทย ไม่ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงและหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ในทุกรูปแบบ โดยร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี้ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนนี้” นายอนุชา กล่าว