เดินเครื่อง!! โครงการพัฒนาคลองหมายเลข 3 พลิก ‘ปทุมธานี’ สู่ถิ่นวิถีท่องเที่ยวทางสายน้ำ

แนวคิดในการพัฒนา จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นมากกว่าเมืองผ่าน แต่ต้องกลายเป็นเมืองแวะเริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าการมีภาคท้องถิ่นที่เอาจริงเอาจัง ช่วยได้มาก โดยในจังหวัดปทุมธานีนั้น เดิมจะมี นายเสวก ประเสริฐสุข หรือ ‘นายกใหญ่’ อดีต นายก อบต.เชียงรากใหญ่ และ อดีตรอง นายก อบจ.ปทุมธานี ผู้ได้รับฉายา ‘พี่ใหญ่ มีแต่ให้’ ที่คนปทุมฯ รู้จักกันดี คอยเป็นมือประสาน 10 ทิศกับทุกหน่วยงานในจังหวัด, ช่วยหางบประมาณ, ศึกษาปัญหาด้วยการพูดคุยชาวบ้าน หวังปั้นให้ ‘ปทุมธานี’ ไม่น้อยหน้าพื้นที่ใกล้เคียงอย่างกรุงเทพฯ, นนทบุรี, อยุธยา

เมื่อมีคนเริ่ม ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะรับไม้ต่อ ซึ่งหากย้อนไปในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดปทุมธานี ครั้งที่ 1/2566 ช่วงเดือนมกราคม จะพบว่า ตอนนี้มีการผลักดันโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวคลองหมายเลข 3 จังหวัดปทุมธานี งบประมาณ 1.5 พันล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี) ให้สายน้ำในจังหวัดปทุมธานีกลายเป็นพิกัดสำคัญทางเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัด หรือด้วยการปั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมานั่นเอง

โดยที่ประชุมในวันนั้นมีบุคคลสำคัญ ทั้งนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดปทุมธานี ครั้งที่ 1/2566 และ พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สาระสำคัญอยู่ที่การติดตามเรื่องสืบเนื่องในการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่คลองหมายเลข 3 ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางสายน้ำ / การดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวคลองหมายเลข 3 (คลองน้ำอ้อม คลองบางหลวงเชียงราก และคลองบ้านพร้าว) จังหวัดปทุมธานี ตามมติที่ประชุมก่อนหน้าเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 

โดยในที่ประชุมได้มีมติสำรวจคลองหมายเลข 3 แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีสายน้ำตามวิถีชีวิตของชุมชน โดยใช้จุดแข็งของชุมชนที่มีอยู่ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงวัดวาอาราม และร้านรวงโดยรวมมาเป็นจุดขาย ซึ่งประกอบไปด้วย…

วัดสำคัญ อาทิ วัดบ้านพร้าวนอก / วัดดาวเรือง / วัดเสด็จ ปทุมธานี / วัดศาลเจ้า (เซียนแปะโรงสี) / วัดบางพูน / วัดหงษ์ปทุมาวาส (วัดมอญ) และ วัดตระพัง ส่วนสถานที่โดยรอบก็จะประกอบไปด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ เช่น ครัวกันเองบ้านป่า / ครัวนาริมคลอง / P-river Cafe & Restaurant / ร้านอาหารป่าริมน้ำ / บ้านตานัด Baan Ta nid River Lodge’n Art Camp / สวนอาหารเพชรน้ำหนึ่ง / Prem Cafe in the Garden / ร้านอาหารริมคลองน้ำอ้อม รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น ชุมชนวัดศาลเจ้า และที่ทำการเชียงราก การประปานครหลวง (อาคารสถาปัตยกรรมสมัย ร.5)

อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้มีการตั้งเป้าหมายเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพ ความสะดวกในการเดินทางทางน้ำ การขจัดสิ่งกีดขวาง ตั้งแต่คลองน้ำอ้อม คลองบางหลวงเชียงราก และคลองบ้านพร้าว สิ้นสุดที่วัดบ้านพร้าวนอก รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร ซึ่งจากการล่องเรือในวันที่ได้ไปสำรวจ พบว่า ช่วงประตูน้ำที่การประปานครหลวง น้ำเชี่ยวมากและเรือที่มีประทุนไม่สามารถผ่านไปได้และหลายช่วงมีผักตบชวาหนาแน่น ทำให้ไม่สามารถเชื่อมคลองน้ำอ้อม คลองบางหลวงเชียงราก และคลองบ้านพร้าว 

โดยปัจจุบัน คลองหมายเลข 3 มีประตูน้ำปิดที่ปากแม่น้ำทั้ง 3 จุด จนกลายเป็นคลองปิด ส่งผลให้มีการสัญจรและใช้งานน้อยลง เนื่องจากช่วงปี พ.ศ. 2542 ได้มีการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ และมีการถมคลองไปช่วงหนึ่งเพื่อทำถนนแล้ววางแนวท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร 2 ท่อด้านล่างแทน ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าถูกลดความสำคัญลงไปอีก ขณะที่ส่วนที่เหลืออยู่ก็กลายสภาพเป็นคลองน้ำนิ่ง ทำให้มีผักตบชวาขึ้นหนาแน่น 

แผนเบื้องต้น ก็คือ ช่วงคลองหมายเลข 1 ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ คลองบ้านพร้าว จะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำถาวรขนาด 3 ลบ.ม. ต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง / ช่วงคลองหมายเลข 2 ประตูระบายน้ำ คลองเชียงรากใหญ่ ไม่ต้องมีเครื่องสูบน้ำ และช่วงคลองหมายเลข 3 ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ คลองบางหลวงเชียงราก จะมีการเครื่องสูบน้ำถาวรขนาด 3 ลบ/ม. ต่อวินาที จำนวน 6 เครื่องยนต์

อันที่จริง ปัญหานี้ไม่ใช่แค่กระทบต่อแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อวิถีชุมชนริมสองฝั่งคลองมาพักใหญ่ เนื่องจากในอดีตยังคงใช้คลองเพื่อการสัญจร รวมถึงใช้งานในเชิงวัฒนธรรมอยู่บ้าง เช่น การตักบาตรพระร้อยหลังวันออกพรรษาซึ่งพระสงฆ์ 100 รูปจะพายเรือมารับบาตรจากประชาชน แต่การถมคลองทำให้ชุมชนถูกตัดขาดจากกัน ชุมชนสองฝั่งคลองจึงได้เรียกร้องให้ฟื้นฟูคลองเพื่อหาทางขุดคลองที่ถูกถมกลับมาใหม่ 

แม้ทางจังหวัดจะเคยร่วมกันเสนอต่อกรมทางหลวงให้คืนชีวิตแก่แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าปทุมธานีอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการรื้อถนนออก แล้วยกสูงขึ้นเป็นสะพาน ซึ่งกรมทางหลวงได้รับข้อเสนอและจัดทำแบบก่อสร้างนานแล้ว แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบไป 

อย่างไรซะ วันนี้ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่ให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ชุมชน ในการรื้อฟื้นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าของปทุมธานี ที่หากทำได้สำเร็จ ก็จะเกิดเส้นทางยาว 26 กิโลเมตรรอบพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเกาะ ซึ่งมีขนาดเป็นสองเท่าของเกาะเมืองอยุธยา ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวทางน้ำที่คืนชีวิตให้แก่ทั้งชุมชนและวัดที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้อย่างแน่นอน