เปิดแผน USAR Thailand สุดยอดทีมกู้ภัยไป 'ตุรเคีย' ช่วยเหลือผู้ตกค้างท่ามกลางความหนาวลบ 0 องศาฯ

หลังเหตุแผ่นดินไหวในตุรเคีย ขนาด 7.8 แมกนิจูด ความลึก 17.9 กม. สร้างความเสียหาย และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 4.8 พันคน แต่การช่วยเหลือท่ามกลางซากปรักหักพังของตึกสูง เป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายระลอกนั้น ทางประเทศไทยก็ได้เตรียมส่งทีมช่วยเหลือ กู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search and Rescue) หรือทีม USAR Thailand ที่มีขีดความสามารถช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในซากตึก จากเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) DDPM รายงานว่า ปภ.ตั้งทีมติดตามสถานการณ์ เตรียมพร้อมส่งทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search and Rescue) หรือทีม USAR Thailand จำนวน 20 คน ไปช่วยเหลือภารกิจค้นหาและกู้ภัยทันทีที่ได้รับการประสาน พร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการค้นหาและกู้ภัย ซึ่งทีม USAR Thailand ถือเป็นทีมปฏิบัติการพิเศษที่ ปภ.พัฒนาขึ้น มีศักยภาพในการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย และมีความสามารถในการรองรับสาธารณภัยขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

สำหรับแผ่นดินไหวในตุรเคียในครั้งนี้ สร้างความสูญเสียจำนวนมาก แต่การเข้าไปช่วยเหลือต้องประสานกับทาง UN ที่เป็นตัวกลางประสานกับทีมกู้ภัยทั่วโลกกว่า 100 ทีม ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือ

โดยอุปสรรคการช่วยเหลือในตุรเคีย ขณะนี้มาจากอุณหภูมิหนาวเย็นเฉลี่ยอยู่ที่ 0 องศาเซลเซียส แต่ทางทีมก็มีเครื่องนุ่งห่มที่ทนความหนาวเย็นได้ ด้วยการฝึกฝนระดับนานาชาติ และอุปกรณ์ช่วยเจาะ ตัดสิ่งกีดขวาง ทำให้ทางทีมมีความพร้อมหากต้องลงพื้นที่ปฏิบัติงาน

“ทีมงานมีการเตรียมความพร้อมระดับสูง รอเพียงคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี หากมีคำสั่งสามารถเดินทางได้ทันที โดยจะถึงตุรเคียภายใน 6 ชั่วโมง ตามมาตรฐานการช่วยเหลือของ UN ขณะเดียวกันต้องมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ปลายทาง ถึงจุดที่สามารถนำเครื่องบินลงได้ ปกติทีมงานจะทำงานในพื้นที่ได้โดยประเทศต้นทางไม่ต้องมาช่วยเหลือด้านอาหาร เนื่องจากทางทีมมีการฝึกฝน สามารถกินอยู่ในพื้นที่ประสบภัยได้ด้วยตัวเอง” เลอพงศ์ สวนสังข์ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฐานะหัวหน้าทีม USAR Thailand ประเมินสถานการณ์

เลอพงศ์ กล่าวอีกว่า อีกความยากลำบากของเหตุการณ์ในครั้งนี้ คือ อาฟเตอร์ช็อกความรุนแรงระดับ 7.6 แมกนิจูด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ จึงทำให้ทีมกู้ภัยทำงานลำบาก โดยเฉพาะเคสตุรเคียมีความรุนแรงกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นสิ่งที่ทีมช่วยเหลือต้องเรียนรู้ร่วมกันทั่วโลก เพราะไม่แน่ว่าการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคต อาจจะมีความรุนแรงมากกว่านี้


ที่มา: https://www.thairath.co.th/scoop/world/2623711