‘บิ๊กป้อม’ พอใจ การพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในอีสานคืบหน้า พร้อมสั่งทุกหน่วยงานเข้ม 10 มาตรการจัดการน้ำ รับมือฤดูแล้ง

(2 ก.พ. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางลงพื้นที่ภาคอีสาน จ.ยโสธร และ จ.มุกดาหาร ตรวจติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อการเกษตร และพบปะรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ โดยมี ผวจ.ยโสธร และ ผวจ.มุกดาหาร เลขา สทนช. และหน.ส่วนราชการต่าง ๆ ให้การต้อนรับ

ภาพรวมสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำยังเกิดขึ้น ในบางพื้นที่ที่ฝนทิ้งช่วง ความคืบหน้าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 61-65 จว.ยโสธร มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่ม 61,103 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 33,053 ครัวเรือน สามารถจุน้ำเพิ่ม 37 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับการป้องกันกว่า 2,500 ไร่ 

สำหรับ จว.มุกดาหาร มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่ม 51,290 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 25,089 ครัวเรือน สามารถจุน้ำเพิ่ม 11.5 ล้าน ลบ.ม. และสามารถนำน้ำบาดาลมาใช้เพิ่มเกือบ 10 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยดำเนินทั้งการก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ และระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ ต่อจากนั้นได้ลงตรวจความคืบหน้าการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยลิงโจน บ.หนองบึง ต.ห้องแซง อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร และพบปะรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่

พล.อ.ประวิตร กล่าวพอใจการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำภาพรวมที่ผ่านมา โดย กำชับสทนช. การบริหารจัดการน้ำภาพรวม จำเป็นต้องดำเนินการคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนให้กระจายในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่ฝนทิ้งช่วง โดยต้องพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำต้นทุน ทั้งน้ำบนดินและน้ำใต้ดินไปพร้อมกัน เชื่อมโยงกับการบริหารจัดการน้ำภาพใหญ่ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหลายโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว จำเป็นต้องวางแผน ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นในอนาคต ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ และยกระดับการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ทั้งนี้ขอให้ทุกส่วนราชการ เพิ่มความเข้มข้นดำเนินการตาม 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานรวมที่จะเกิดขึ้น พร้อมย้ำ ขอให้มุ่งทำประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และเป็นไปด้วยความโปร่งใส 

และบ่ายวันเดียวกัน มีแผนเดินทางไป จว.มุกดาหาร ตรวจติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ และโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขง เพื่อการเกษตร รวมทั้งตรวจติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างปรับปรุงตลาดอินโดจีน