'กิมจิจีน' รุกคืบครองส่วนแบ่งตลาดในเกาหลีใต้ 40% ผลพวกจาก 'วิกฤติเศรษฐกิจ - สภาพอากาศแปรปรวน'

'กิมจิ' อาหารประจำชาติของเกาหลี เป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคยดีและซึมซับผ่านทาง Soft Power ด้านต่าง ๆ เช่น ร้านอาหารเกาหลี ซีรีส์ รายการวาไรตี้ และเมื่อเจอกิมจิที่ไหน เราจะนึกถึงเกาหลีขึ้นมาก่อนทันที

แต่รู้หรือไม่ว่า ตอนนี้ตลาดกิมจิในเกาหลีใต้ถูกกิมจิจากประเทศจีน กินส่วนแบ่งตลาดไปมากถึง 40%

ตัวเลขส่งออกกับนำเข้าที่สวนทางกันของกิมจิ กำลังกลายเป็นประเด็นในเกาหลีใต้ ท่ามกลางการยิ้มรับความสำเร็จและเม็ดเงินจาก Soft power

มูลค่านำเข้ากิมจิปี 2022 ของเกาหลีใต้อยู่ที่ 169 ล้านดอลลาร์ (ราว 5,500 ล้านบาท) เพิ่มจาก 140 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,500 ล้านบาท) ของปี 2021 

และยังเพิ่มขึ้นมาแทบทุกปี ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับตัวเลขส่งออกในปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ 140 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,500 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 7 ปี

การขาดดุลกิมจิของเกาหลีใต้ เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลก สภาพอากาศแปรปรวน และราคาผักจำเป็นต่อการทำกิมจิ ทั้งผักกาดและพริกไทย 

รวมไปถึงส่วนประกอบอื่นๆ ที่แพงขึ้น 10% จนทำให้กิมจิ ที่ทำขึ้นในประเทศแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว 

ปัจจัยลบดังกล่าวบีบให้ประชาชนทั่วไปและร้านอาหาร-ภัตตาคารในเกาหลีใต้ จำเป็นต้องซื้อกิมจินำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ที่ราคาถูกกว่าแทนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย 

จนเปิดทางให้กิมจิ Made in China เจาะตลาดเกาหลีใต้ได้สำเร็จ สามารถครองส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มเป็น 40% แล้ว 

แม่บ้านชาวเกาหลีใต้วัย 59 ปี เผยว่า ปัญหาค่าครองชีพ ราคาอาหารและข้าวของแพง ทำให้ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด และหันไปซื้อกิมจินำเข้าจากจีนที่ราคาถูกกว่าที่ทำในประเทศมากขึ้น 

ส่วนเจ้าของร้านอาหารหนุ่มร่วมชาติวัย 35 ปี ก็เปลี่ยนไปเสิร์ฟกิมจินำเข้าจากจีนแทนแล้วพักใหญ่ เพราะราคาถูกกว่าแบรนด์ในประเทศ 1 ใน 5

สำหรับกิมจิทำในจีน ถูกส่งออกไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นแทบทุกปี ยกเว้นบางปีที่มีปัญหา หรือตกเป็นข่าวเชิงลบที่สร้างความกังวล เช่น ภาพชายชาวจีนเปลือยกายลงไปบ่อผักกาดเพื่อคลุกเครื่องปรุงในการทำกิมจิ ร่วมกับการใช้รถขุด เมื่อปี 2019 

จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ จะแก้ไขปัญหาขาดดุลกิมจินี้อย่างไร ต่อเนื่องจากการสร้างคลังผักกาดขนาดใหญ่ที่เดินหน้าไปแล้ว 

ส่วนในกรณีที่การแก้ปัญหานี้ล่าช้าจะไม่ได้ส่งผลต่อปากท้องของชาวเกาหลีใต้ สวนทางกับความสำเร็จอย่างมากบนเวทีโลก ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงและสินค้าเทคโนโลยีเท่านั้น 

แต่ยังจะกลายเป็นปัญหาสังคมและทำให้ผู้คนห่างกันไป เพราะเมื่อผักและวัตถุดิบทำกิมจิแพง ผู้คนเน้นไปซื้อกิมจินำเข้าที่ถูกกว่าทำขึ้นในประเทศเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา 

วัฒนธรรมการรวมตัวกันทำกิมจิแบ่งกันในหมู่เพื่อนบ้านซึ่งเปิดโอกาสให้ได้คุย ได้ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ และกระชับความสัมพันธ์ที่เรียกว่า กิมจัง อาจหายไป  


ที่มา: Marketeer online