คืนสัมพันธ์ ‘ไทย-ซาอุฯ’ ผลงานชิ้นโบแดง ‘รัฐบาลลุงตู่’

อีกเหตุการณ์ที่ถือเป็นเรื่องน่ายินดีของประเทศไทยในปีนี้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ได้แก่ ‘ไทย’ และ ‘ซาอุดีอาระเบีย’ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งได้เห็นภาพก่อน-หลังการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพและได้เชิญแขกสำคัญอย่าง ‘มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด’ มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย มาประเทศไทยพร้อมมีการลงนามความร่วมมือกันหลายฉบับ ยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่า ความสัมพันธ์ ‘ไทย-ซาอุดีอาระเบีย’ กลับมาแน่นแฟ้นแน่นอนแล้ว

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ เรียกว่า มีความตึงเครียดกันมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดยสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเกิดปัญหานั้นก็มีอยู่หลายเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องก็ซับซ้อนจนยากจะเข้าใจ 

นานมาแล้วเคยฟังผู้ใหญ่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียพูดผ่านผู้ใหญ่ฝ่ายไทยว่าเรื่องเพชรที่ฝ่ายเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญนั้น เอาเข้าจริงแล้วกลับไม่ใช่ หากแต่เป็นความคลุมเครือเรื่องการสูญหายของคนซาอุฯ ในประเทศไทยที่สำคัญกว่า แต่ยังมีประเด็นอื่นที่สำคัญกว่านั้น โดยเรื่องนี้ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผอ.ศวฮ.) เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กให้เห็นภาพดังกล่าวไว้ว่า…

หลังจากผ่านไป 30 ปี ในความเห็นของผม การขึ้นสู่อำนาจของมกุฎราชกุมาร MBS นับเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากพระองค์ท่านทรงมีความคิดทันสมัย อีกทั้งบุคลิกภาพของนายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวกันว่าฝ่ายซาอุดีอาระเบียพึงพอใจค่อนข้างมาก เท่าที่ทราบจากหลายฝ่าย ความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐบาลดีขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ผมเดินทางไปประชุมมาตรฐานฮาลาลที่ซาอุดีอาระเบียพร้อมอาจารย์ปกรณ์ ปรียากร ดร.อาณัฐ เด่นยิ่งโยชน์ และ ดร.มุฮัมหมัดอมีน เจ๊ะนุ ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับทราบข่าวดีด้านการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทั้งจากประธานหอการค้าซาอุดีอาระเบีย จากอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮฺ และอีกหลายฝ่าย ทว่าเป็นแค่ข่าวยังไม่มีรายละเอียด

ผมและทีมงานไปประชุมที่ซาอุดีอาระเบียสองสามครั้ง ที่ผ่านมาเมื่อได้พบกับผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย เห็นว่าเขาระวังตัวกันมากในการพบปะพูดคุยกับฝ่ายเรา แต่มาครั้งใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว ฝ่ายซาอุดีอาระเบียเปิดกว้างจนเห็นได้ชัด ขอเข้าพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังได้พบทั้งท่านอธิการบดีและผู้บริหารทั้งชุด พูดคุยกันเรื่องความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบียเสียด้วยซ้ำ ความที่ท่านอธิการบดีทรงเป็นบุคคลระดับเชื้อพระวงศ์ ยิ่งทำให้พวกเรามั่นใจว่าคงได้ข่าวดีด้านความสัมพันธ์ และมันก็เป็นอย่างที่คาดจริงๆ

ระหว่างที่ความสัมพันธ์ง่อนแง่นเราคนไทยได้รับผลกระทบกันมาตลอด ผลประโยชน์ของประเทศไทยจำนวนมหาศาลสูญเสียไป จึงต้องขอบคุณทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบียกลับมาเป็นปกติ ความสัมพันธ์ที่ดีจะก่อประโยชน์มากมายให้กับทั้งสองฝ่าย เชื่อมั่นอย่างนั้น

แน่นอนว่า ในวันนี้กำแพงแห่งความหมางใจตลอด 32 ปีของ ‘ไทย-ซาอุฯ’ ได้พังทลายลง จากการขับเคลื่อนของรัฐบาลไทยภายใต้ ‘รัฐบาลลุงตู่’

เริ่มต้นที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อต้นปี (2565) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

การไปเยือนซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ มีรายละเอียดที่กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สรุปไว้น่าสนใจหลายอย่าง 

1.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

2.) มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทรงให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และทั้งสองฝ่ายได้ประชุมหารืออย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการสะสางประเด็นที่คั่งค้างทั้งหมดระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียและปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติ ทั้งสองฝ่ายยังได้ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองราชอาณาจักรและการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับซาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 (ค.ศ. 1989-1990)

นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยยืนยันว่า ไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่าง ๆ และหากมีหลักฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยยังได้ยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมแก่บุคคลในคณะผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียที่กรุงเทพฯ ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ปี ค.ศ. 1961 ทั้งสองฝ่ายยังได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อดูแลความปลอดภัยของคนชาติของกันและกันในแต่ละประเทศ

3.) ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศต่าง ๆ และได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกสาขา ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์และการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของแต่ละฝ่ายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อประโยชน์ร่วมกันของราชอาณาจักรทั้งสอง

4.) โดยคำนึงถึงจิตวิญญาณของความร่วมมือและความตั้งใจร่วมกันเพื่อฟื้นฟูมิตรภาพและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองราชอาณาจักรและประชาชน ภายใต้การนำและพระราชวิสัยทัศน์อันเข้มแข็งของผู้พิทักษ์ สองมหามัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Majesty King Salman bin Abdulaziz Al Saud) และมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์ ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนานเพื่อฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกัน

5.) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกับขั้นตอนสำคัญต่าง ๆ ที่จะดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้งสองประเทศในอนาคตอันใกล้ และการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี การติดต่อประสานงานอย่างเต็มที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีในสาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ

6.) ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางในการส่งเสริมและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองราชอาณาจักรโดยการแสวงหาโอกาสในด้านการลงทุนและอื่น ๆ ในบริบทของวิสัยทัศน์ ค.ศ. 2030 ของซาอุดีอาระเบียและวาระการพัฒนาแห่งชาติของไทย กล่าวคือ นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy) ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ อาทิ พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนา และความมั่นคงทางไซเบอร์ 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ที่กำลังเติบโตระหว่างทั้งสองราชอาณาจักร รวมทั้งการส่งเสริมการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนาและพหุวัฒนธรรม

7.) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในองค์การและเวทีระหว่างประเทศ และเน้นย้ำความสำคัญของการยึดมั่นของทุกประเทศต่อกฎบัตรสหประชาชาติ บรรทัดฐานระหว่างประเทศ รวมถึงหลักการการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี การเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการระงับข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งสองฝ่ายยินดีกับบทบาทที่สร้างสรรค์ของกันและกันในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทที่สำคัญของไทยในอาเซียน และบทบาทนำของซาอุดีอาระเบียในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคง และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา

8.) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้แสดงความยินดีกับซาอุดีอาระเบียสำหรับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพและการจัดการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งได้ส่งผลเชิงบวกในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การพัฒนา สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข พลังงาน เป็นต้น มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทรงแสดงความมั่นใจว่าการเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) และการประชุมกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ในปี 2565 ของไทยจะประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเติบโตที่ยั่งยืน สมดุลและมีส่วนร่วมของเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกในยุคหลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

9.) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยยินดีกับข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียวและตะวันออกกลางสีเขียว ที่ริเริ่มโดยมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย รวมถึงชื่นชมบทบาทนำของซาอุดีอาระเบียในประเด็นระหว่างประเทศร่วมกันต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบเชิงบวกต่อภูมิภาคและประชาชน มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทรงชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของไทย ซึ่งมุ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แปลงขยะให้กลายเป็นความมั่งคั่ง ฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

10.) ในช่วงท้ายของการเยือน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของผู้พิทักษ์สองมหามัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด และมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และได้ถวายพระพรชัยมงคลแด่ทั้งสองพระองค์ให้ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ และขออวยพรให้ประชาชนชาวซาอุดีอาระเบียมีความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์และทรงพระเจริญ และทรงอำนวยพรให้นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยมีสุขภาพดีและประสบความสุขสวัสดี และทรงอำนวยพรให้ประชาชนชาวไทยมีความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง

บทสรุปทั้ง 10 ข้อ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในเชิงประจักษ์ของทั้ง 2 ประเทศเท่านั้น และเชื่อว่า ภายหลังจากนี้จะเริ่มเห็นภาพการไปมาหาสู่ระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมจะมีมากขึ้น (ตอนนี้ก็เริ่มแล้ว)

ขณะเดียวกัน ยังเป็นภาพในเชิงบวก เพราะถือว่าเป็นการสร้างผลงานครั้งสำคัญของรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสายตาชาวโลก และชาวไทย ในภาวะที่กำลังเผชิญวิกฤตทางการเมืองถาโถมเข้ามาหลากหลายเรื่อง และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านแรงงาน และการท่องเที่ยว แม้ว่าจะถูกฝ่ายตรงข้าม ด้อยค่าว่า ไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาล เพราะซาอุฯ ต้องการเปิดประเทศอยู่แล้วก็ตาม

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ