‘ก้าวไกล’ โต้ ส.ว. อภิปรายบิดเบือน ยื้อ!! ประชามติแก้ รธน.ไปอีก 45 วัน

‘ณัฐพงษ์’ โต้ ส.ว. อภิปรายบิดเบือน ยื้อประชามติแก้ รธน.ไปอีก 45 วัน ยัน!! แจงเหตุผลชัดเจนแล้ว ถูกต้องตามข้อบังคับ ไม่มีเหตุต้องเตะถ่วงอีก

(21 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงคัดค้านกรณีเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) ที่ประชุมวุฒิสภามีมติมติส่งเรื่องคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ขอให้กรรมาธิการพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว ได้ขยายเวลาการพิจารณาออกไป 45 วัน จากระยะเวลาเดิมที่ขอพิจารณา 30 วันซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 ธ.ค. 

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่าที่ประชุม ส.ว.ได้มีการลุกขึ้นอภิปปราย โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ระบุข้อที่เป็นลักษณะบิดเบือนไม่เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับตน และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้เสนอญัตติ ว่าผู้เสนอญัตติยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนเองเสนอมานั้นถูกต้องหรือไม่ โดยระบุว่าเมื่อ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตนได้เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการชุดนี้ โดยแถลงข้อกังวล 3 ข้อของกรรมาธิการฯ ซึ่งเชื่อว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้จะเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่ทำให้ที่ประชุมวุฒิสภาที่ผ่านมา ควรลงมติในญัตติดังกล่าวได้แล้ว ไม่ใช่ขยายเวลาไปอีก 45 เพื่อเป็นการเตะถ่วงหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลใดต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ที่มาที่ไปขอญัตตินี้ สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อน ว่าประสงค์จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ การเสนอญัตติดังกล่าวจึงเป็นไปตามข้อบังคับ ไม่เกี่ยวข้องกับว่าเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นอย่างไร

“คณะกรรมาธิการฯ มีความหวาดระแวงว่า การที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตตินี้ เพื่อจะแก้ไขเนื้อหาหมวด 1 หรือหมวด 2 หรือไม่ ซึ่งผมได้ปฏิเสธอย่างแข็งขัน และยืนยันในเหตุผลดังที่กล่าวไปแล้ว ว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรอบการแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะเป็นคนละกระบวนการกันกับการทำประชามติ” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าจะต้องจัดทำประชามติพร้อมกับวันเลือกตั้ง เพียงระบุว่าต้องมีการจัดทำประจำมติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น การให้จัดทำประชามติพร้อมวันเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนี้พรรคก้าวไกลอยู่ระหว่างการแก้ไขจัดทำ พ.ร.บ.ประชามติ ให้สมบูรณ์

ทั้งนี้ ครม. มีอำนาจในการเลือกวันของการทำประชามติ หาก ครม. คิดว่าไม่เหมาะสมที่จะจัดพร้อมกับวันเลือกตั้ง ก็สามารถจัดวันอื่นได้ แต่หากคิดว่าจะเป็นการประหยัดงบประมาณ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎร ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการหยิบพ.ร.บ.ประชามติ ที่พรรคก้าวไกลเสนอไปบังคับใช้ได้เลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบญัตติเสนอให้ทำประชามติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่เมื่อถึงชั้นวุฒิสภา ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญคณะหนึ่งขึ้นมาเพื่อศึกษาการทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยมีเวลาศึกษา 30 วัน และมติของวุฒิสภาที่ให้ขยายเวลาพิจารณาออกไป 45 วันนั้น จะทำให้เรื่องดังกล่าวกลับเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาอีกครั้งในช่วงไม่เกินต้นเดือน ก.พ. 2566 เพื่อลงมติตัดสินว่าจะเห็นด้วยกับญัตติของสภาฯ หรือไม่ ขณะที่สมัยประชุมของสภาฯ ชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงวันที่ 28 ก.พ. 2566