‘สุทิน’ ยัน!! หาก ‘ตู่-ป้อม’ แตกกันไม่กระทบฝ่ายค้าน แต่อาจเกิดศึกชิงรัก-หักเหลี่ยมภายในรัฐบาล

(22 พ.ย. 65) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่านค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมวุฒิสภา ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ พิจารณาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับการเลือกตั้งว่า การที่เสนอให้ทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งเพื่อไม่ต้องการให้เสียเวลา แต่การที่วุฒิสภา ตั้งกมธ. ขึ้นมาศึกษาก็สามารถทำได้ แต่เมื่อตั้งกมธ. มาแล้วก็สามารถทำได้ แต่ต้องรับผิดชอบให้มีคำตอบทันกับการเลือกตั้งว่าทำหรือไม่ทำ แต่ถ้าตั้งไปเรื่อย และไม่ได้รับผิดชอบเวลา ก็ต้องมีการตั้งข้อสังเกตว่ายื้อหรือไม่ 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะลาขาดจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คิดว่าจะมีจุดเปลี่ยนทางการเมืองอะไรหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ไม่มีใครรู้แน่ เราก็เพียงแค่คาดหมาย และวิเคราะห์พฤติกรรมเอา ซึ่งมีหลายอย่างบ่งชี้ว่า ทั้ง 2 คนไม่ได้ไปด้วยกัน และมีหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า ไปด้วยกัน ฉะนั้นการที่ทั้ง 2 คน ไปหรือไม่ไปด้วยกันก็มีผลทางการเมือง ถ้าเขาไปด้วยกันก็ทำให้เขามีเอกภาพ แต่ถ้าไม่ไปด้วยกันก็ไม่เป็นเอกภาพ หรือถ้าแยกออกจากกันแล้วเป้าหมายของพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ตรงไหน และเป้าหมายนั้นทันหรือไม่ทันเวลา เพราะมีผลเกี่ยวกับกฎหมายลูก ฉะนั้นจากนี้เป็นต้นไปทั้ง 2 คนถือว่าทำให้การเมืองของประเทศผันผวนได้ 

เมื่อถามว่า การแยกกันของพล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.ประวิตร จะเป็นผลดีหรือผลเสียกับฝ่ายค้าน นายสุทิน กล่าวว่า ไม่มีผลอะไรกับฝ่ายค้าน แต่คงมีผลกับฝ่ายรัฐบาลเอง และสถานการณ์การเมืองโดยรวมของประเทศ การที่เขาแยกกันเดิน อาจจะทำให้มีการช่วงชิง ชิงรัก หักเหลี่ยมกันในรัฐบาล เป็นผลให้การเมืองไม่ราบเรียบ ประโยชน์ของประชาชนแทนที่จะได้ก็ไม่ได้ เพราะเล่นการเมืองแหลกลาญ จริงๆ แล้วเราก็อยากให้เขาไปด้วยกันเรียบร้อย เพื่อให้การเมืองเป็นขั้วที่ชัดเจน ประชาชนก็ไม่สับสน 

เมื่อถามว่า ในสถานการณ์การเมืองในขณะนี้การยุบสภา มีโอกาสเกิดขึ้นเร็วหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าการยุบสภาคงเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย และไม่เร็ว เพราะการยุบสภา คนจะยุบต้องได้เปรียบ ยุบแล้ว เลือกแล้วต้องชนะ แต่วันนี้ตรงกันข้าม และรวมถึงงบประมาณปี 66 ยังเป็นช่วงข้าวใหม่ปลามัน จึงยังไม่เชื่อว่ามีการยุบสภาในช่วงนี้