เตือนสติ ‘กลุ่ม 3 นิ้ว’ เตรียมป่วนเอเปค ชี้ ก่อม็อบล้มประชุมทำชาติเสียหาย โทษหนักถึงคุก

การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามนิ้ว เพื่อขัดขวางการประชุมปรากฎในเพจสำนักข่าวราษฎร ในชื่อกลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 นำโดยสมบูรณ์ กำแหง, มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และไผ่ ดาวดิน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จะออกมานำม็อบป่วนการประชุม APEC 2022 โดยมีหัวขบวนอย่าง Amnesty International Thailand เป็นเจ้าภาพ 

แกนนำสามนิ้วทำตัวเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน ทั้งที่คดีรอบเอว น่าจะมี Hidden Agenda หากนำม็อบบุกป่วนงานได้ จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายในวงกว้าง ที่สำคัญคือกระทบประชาชนที่คนกลุ่มนี้ชอบอ้างว่ารักนักหนานั่นแหละ

ขนาดมองลงมาจากดาวอังคารยังเห็นว่า ป้ายที่จะนำมาประท้วงนั้นเต็มไปด้วยถ้อยคำแอนตี้จีน โยงไปถึงเรื่องอุยกูร์ แล้ววกเข้าประเด็นพม่า ซึ่งนี่ใช่เรื่องของประเทศไทยไหม แปลกแต่จริงที่แนวคิดนี้ไปสอดคล้องกับนักการเมืองบางคนที่ขึ้นเวทีด่าทอประเทศไทยอยู่ในต่างแดน โดยอวยไต้หวันแนวเดียวกับอเมริกา แอนตี้จีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งที่บรรพบุรุษตนเองมาจากมณฑลฝูเจี้ยน

หากยุวชนสามนิ้วยังฮึกเหิมอยากมาม็อบ ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ถึงเหตุการณ์ล้มการประชุมอาเซียนของกลุ่มเสื้อแดง นปช. เมื่อ 10 ปีก่อน หากจะอ้างว่าการประท้วงแสดงเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญละก็ ขอให้จำไว้แม่น ๆ ว่า ตอนนั้นศาลชี้การกระทำของแกนนำ นปช. ไม่ใช่สิทธิตาม รธน. เพราะนี่คือการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตจนละเมิดกฎหมาย ส่วนแกนนำไม่รอดคุกเลยแม้แต่คนเดียว

วันที่ 11 ก.ย. ศาลจังหวัดพัทยาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3494-3495/2562 ความอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เป็นโจทก์ บริษัทโรแยลคลีฟ บีช โฮเต็ล จำกัด เป็นโจทก์ร่วม โดยยื่นฟ้องนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีตแกนนำ นปช. จำเลยที่ 1 นายนพพร นามเชียงใต้ จำเลยที่ 2 พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ จำเลยที่ 3 นายสมญศฆ์ พรมภา จำเลยที่ 4 ในความคิดต่อความมั่นคงของรัฐ ก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ทำให้เสียทรัพย์บุกรุกความผิดต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก

รวมทั้งคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เป็นโจทก์ บริษัท โรแยลคลีฟ บีช โฮเต็ล จำกัด เป็นโจทก์ร่วม ระหว่างที่นายนิสิต สินธุไพร จำเลยที่ 1 นายสำเรง ประจำเรือ จำเลยที่ 2 พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ จำเลยที่ 3 นายธรชัย ศักดิ์มังกร จำเลยที่ 4 นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือแซ่ด่าน จำเลยที่ 5 นายศักดา นพสิทธิ์ จำเลยที่ 6 นายสิงห์ทอง บัวชุม จำเลยที่ 7 นายธนกฤต หรือวันชนะ ชะเอมน้อยหรือเกิดดี จำเลยที่ 8 นายวรชัย เหมะ จำเลยที่ 9 พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ จำเลยที่ 10 นายพายัพ ปั้นเกตุ จำเลยที่ 11 นายวัลลภ ยังตรง

แกนนำทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาหลายข้อหา คือร่วมกันขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งให้เลิกการมั่วสุม  ร่วมกันเดินแถวเป็นขบวน และกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยเป็นหัวหน้า เป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำผิดนั้น ร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ โดยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216, 358, 362, 364, 365 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 108, 114, 148 

ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำคุกจำเลยจำนวน 13 คน เป็นเวลา 4 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ยกฟ้องจำเลยที่ 4 คือ นายสมยศ พรหมมา เพราะเป็นมวลชนธรรมดาไม่ใช่แกนนำ เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานที่เห็นเหตุการณ์จึงยกประโยชน์ให้แก่จำเลย ในการพิพากษาคดี จำเลยแทบจะไม่มีใครโผล่มาศาลเลย แต่ศาลออกหมายจับเพื่อให้มารายงานตัวต่อศาลและเข้าสู่เรือนจำทันที

ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งคือตอนที่เกิดเหตุล่มการประชุมเอาเซียน ผู้นำประเทศในยุคนั้นคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นพลเรือน แต่รัฐบาลนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นทหาร และรัฐมนตรีมหาดไทยก็เป็นทหาร  เรื่องกฎระเบียบวินัย ย่อมต้องเข้มกว่ารัฐบาลพลเรือนอยู่แล้ว คงไม่หน่อมแน้มเหมือนที่เคยผ่านมาแน่นอน

อยากเตือนบรรดายุวชนสามนิ้วคิดให้รอบคอบก่อนมาร่วมม็อบ คิดถึงผลดีผลเสียให้มาก เพราะผลเสียนั้นไม่ได้เกิดขั้นกับตัวผู้มาร่วมม็อบเอง แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างถึงคนไทยทุกคนในประเทศด้วย หากอ้างว่ารักมวลชน ก็ไม่ควรก่อเหตุจนผลประโยชน์ชาติเสียหาย ไม่เช่นนั้นคำอ้างว่า 'รักประชาชน' ก็เป็นเพียงวาทกรรมเท่ ๆ แค่การโกหกคำโตเท่านั้นเอง