'บิ๊กตู่' เสนอ 2 แนวทางอาเซียนเดินหน้า ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญ

พลังของอาเซียน ดึงฝ่ายต่าง ๆ ให้มาพบปะ
สัปดาห์นี้ มีการประชุมสุดยอดอาเซียน / G20 
ไทยเองก็จะเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค 
เราควรใช้โอกาสนี้เป็นเวที
สร้างปฏิสัมพันธ์ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 
นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม
กล่าวในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 41
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 65

นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 41 อย่างไม่เป็นทางการ เสนอแนวทางเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ พร้อมกระชับความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและหุ้นส่วนภายนอกให้แน่นแฟ้น เพื่อดำเนินความสัมพันธ์อย่างสมดุล

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ห้อง Ballroom III ชั้น Lobby (L) โรงแรมสกคา พนมเปญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 41 อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) มีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์และพัฒนาการที่สำคัญในภูมิภาคและระหว่างประเทศ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวเสนอ 2 แนวทางที่อาเซียนควรดำเนินการไปพร้อมๆ กัน ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญ ดังนี้

หนึ่ง เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ โดยดึงศักยภาพของแต่ละกรอบมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการดำเนินการของแต่ละกรอบมีการสอดประสานกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียน และสามารถรักษาคุณค่าทางยุทธศาสตร์ของโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง  
สอง กระชับความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและหุ้นส่วนภายนอกอื่น ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของความไว้วางใจระหว่างกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาเซียนดำเนินความสัมพันธ์อย่างสมดุล เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค 

สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาเซียนสามารถเป็นส่วนหนึ่ง โดยใช้พลังของอาเซียนดึงฝ่ายต่าง ๆ ให้มาพบปะหารือกัน ซึ่งในช่วงหนึ่งสัปดาห์นี้ มีการประชุมสุดยอดอาเซียน การประชุม G20 และไทยเองก็จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค จึงควรใช้โอกาสนี้เป็นเวทีสำหรับการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา นายกรัฐมนตรีเห็นว่า บทบาทของอาเซียนมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมาและประชาคมอาเซียน ซึ่งทุกฝ่ายควรทำงานร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมส่งไปถึงประชาชนเมียนมาที่เดือดร้อน ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับเมียนมา พร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปสู่ประชาชนเมียนมา

“ ขอแสดงความยินดีกับกัมพูชาที่ประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ประธานอาเซียน และไทยพร้อมสนับสนุนอินโดนีเซียสำหรับการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า เพื่อร่วมกันเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้ก้าวหน้าและเข้มแข็งต่อไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว