ข้อควรรู้ ‘ขับขี่มือใหม่’ สายพลังงานสะอาด ‘ชาร์จ’ รถ EV ต้องทำแบบนี้ ‘ปลอดภัย-ไฟแรง’

ปัจจุบันระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า EV ได้เริ่มไหลเวียนเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างเรา ๆ ได้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักไม่น้อยไปกว่าเฟสของ ‘การใช้งาน’ ในผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาด เช่น ตัวรถยนต์ มอเตอร์ แบตเตอรี่ หรือแม้แต่ที่ชาร์จ ก็คือ เรื่องของมาตรฐานของห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ EV

ไม่นานมานี้ ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็สั่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำมาตรฐานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ รวมทั้งสถานีชาร์จ เสนอบอร์ดเพื่อขอความเห็นชอบในการบังคับใช้มาตรฐาน โดยกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

สาระสำคัญที่น่าสนใจในเฟสนี้ คงอยู่ที่เรื่องของพลังงานเสียมาก โดยเฉพาะในส่วนของสถานีชาร์จ หรือแม้แต่ที่ชาร์จตามบ้าน ซึ่งหากใช้อย่างไม่รู้เท่าทัน แทนที่รถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยปันเงินส่วนต่างที่แพงหูฉี่จากน้ำมันมาเข้ากระเป๋า อาจทำให้เราต้องควักเงินเพิ่มเพื่อไปดูแล อุปกรณ์เกี่ยวเนื่องต่อการใช้งานอีวีนั้น ๆ ก็เป็นได้

วันนี้ ผมเลยถือโอกาสแนะแนวทางการชาร์จแบตฯ รถยนต์ไฟฟ้าที่ควรรู้สำหรับทุกท่านที่เริ่มเข้าสู่สังคมพลังงานสะอาด 100% กันสักเล็กน้อยครับ 

สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านั้น หลัก ๆ ก็จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ คือ…

>>การชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge)
เป็นการชาร์จไฟฟ้าจากตัวเต้ารับโดยตรง และเต้ารับต้องติดตั้งใหม่เฉพาะการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น โดยเป็นการใช้ไฟบ้านที่เป็นกระแสสลับ (AC) ใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 12 ถึง 16 ชั่วโมง

>> การชาร์จแบบรวดเร็ว (Double Speed Charge)
เป็นการชาร์จจากเครื่องชาร์จ EV Charger โดยตู้ชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) ซึ่งก็จะช่วยให้ชาร์จแบตเตอรี่รถอีวีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมง

>> การชาร์จแบบด่วน (Quick Charge)
เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) ตรงเข้าแบตเตอรี่โดยตรง ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จาก 0-80% ได้ภายในเวลา 40-60 นาที นิยมใช้ตามสถานีบริการนอกบ้าน ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ แต่ก็มีข้อเสียคือทำให้ตัวแบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น ส่งผลโดยตรงต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ลดลง เนื่องจากการชาร์จลักษณะนี้จะมีการอัดประจุเข้าไปเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นถ้าเราไม่มีความจำเป็น การชาร์จแบตเตอรี่แบบไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ก็เพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว

ส่วนการเลือกพิกัดในการชาร์จอีวีนั้น เบื้องต้นเพื่อความปลอดภัย เราควรเลือกสถานีชาร์จที่ได้มาตรฐาน เช่นสถานีชาร์จในปั๊มน้ำมันชั้นนำ หรือสถานีชาร์จของหน่วยงานราชการ เช่น การไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือแม้แต่เอกชนรายใหญ่ที่มีการประกาศขยายบริการครอบคลุม เช่น EA

ขณะเดียวกัน หากจะใช้เครื่องชาร์จแบบติดผนัง (Wall Mounted Charger) เพื่อไปชาร์จเองที่บ้าน ก็ควรจะต้องใช้เครื่องชาร์จที่มีมาตรฐาน มอก.61851 หรือ IEC 61851 ต่อสายดิน รวมทั้งมีตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) และเบรกเกอร์ขนาดตามพิกัดกระแสไฟฟ้าของเครื่องชาร์จ เพื่อความปลอดภัย

ไม่ยากอย่างที่คิด แต่ต้องพิจารณากันสักนิดทุกครั้งที่คิดจะ ‘ชาร์จ’ เพื่อให้เราไม่พลาดเจอ ‘ช็อต’ จนต้องช็อก!! กันนะครับ


เรื่อง: กันย์ ฉันทภิญญา Content Manager