‘PMOC’ แจงอีกครั้งปมให้ต่างด้าวถือครองที่ดิน ชี้ กฎหมายมีมาตั้งแต่ปี 2497 เพียงปรับให้เข้ากับยุคสมัย

เพจเฟซบุ๊ก ‘ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC’ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ต่างชาติสามารถซื้อที่ดินได้ 1 ไร่ โดยระบุว่า ..

จากความกังวลของสังคมเกี่ยวกับกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เนื่องด้วยกฎหมายฉบับดังกล่าว เกี่ยวข้องกับที่ดิน และชาวต่างชาติ อันเกี่ยวพันกับความรู้สึกด้านความมั่นคงของพี่น้องประชาชนชาวไทย

ในข้อเท็จจริงแล้ว ประเทศไทย ออกกฎหมายอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 แล้ว แต่กฎหมายฉบับก่อนนี้ มีความเข้มงวดมากกว่า ในขณะที่กฎหมายที่ดินในยุคหลัง ผ่อนคลายมากกว่า ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ มีศักดิ์ทางกฎหมายเป็น 'กฎกระทรวง' ซึ่งเป็นกฎหมายลูก จะต้องคล้อยตาม ไม่ขัดแย้งกับ 'ประมวลกฎหมายที่ดิน' ซึ่งมีศักดิ์เป็น 'พระราชบัญญัติ' เป็นกฎหมายแม่ 

กฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการออกตามกรอบที่ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 96 ทวิ (ปรับปรุงล่าสุด พ.ศ. 2542) กำหนดไว้ ซึ่งมาตราดังกล่าวกำหนดให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

- ต้องเป็นผู้ลงทุนในประเทศไทย โดยมีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท

- การลงทุนข้างต้น ต้องเป็นการลงทุนที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

- ชาวต่างชาติผู้ลงทุน ต้องลงทุนในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ปี

- ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่

- ที่ดินที่ชาวต่างชาติถือครอง ต้องเป็นที่ดินที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตที่อยู่อาศัย ตามกฎหมายผังเมืองเท่านั้น

- ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน

และนอกจากนี้ ประมวลกฎหมายที่ดิน ยังให้อำนาจรัฐในการเพิกถอนสิทธิการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติหากพบว่าไม่สอดคล้องเงื่อนไขดังต่อไปนี้

- หากพบว่าชาวต่างชาติผู้ถือครองที่ดินนั้นไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดในภายหลัง

- หากพบว่าที่ดินที่ถือครองดังกล่าว มิได้ถูกใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่ขอจดทะเบียน

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ เป็นการออกตามกรอบทางกฎหมายที่มีมาก่อน อีกทั้งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร์ และวุฒิสภาในยุคก่อนมาแล้ว ว่าจะไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของพี่น้องประชาชนชาวไทย


ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02bzi8QezVF7wSLN1oQXZyzk5TBem9CedGL5HE3WREcYJ4WkFhPEH6JubqTNf7Jo8Tl&id=100069126223361