'ไอติม' ย้ำ!! ข้อเสนอแก้ ม.112 ของก้าวไกล ช่วยรักษาความสัมพันธ์ 'ประชาชน-สถาบันฯ'

'ไอติม' ย้ำ ข้อเสนอแก้ ม.112 ของก้าวไกลทำให้ประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุข ที่ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่หลายพรรคการเมืองออกมาคัดค้านการแก้กฎหมาย ม.112 หรือกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของพรรคก้าวไกลว่า พรรคก้าวไกลเราเคารพสิทธิของทุกพรรค ที่จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับนโยบายของพรรคก้าวไกล แต่ที่ตนจำเป็นต้องชี้แจง เพราะเหตุผลที่หลายพรรคใช้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรืออาจเป็นความจงใจที่จะบิดเบือน เนื้อหาสาระของนโยบายของพรรคก้าวไกล เพราะในเชิงข้อเท็จจริง ข้อเสนอในการแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ทำให้ประเทศเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองประมุข แต่เป็นข้อเสนอในการทำให้กฎหมายคุ้มครองประมุขในประเทศเราทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์

พริษฐ์กล่าวว่า กฎหมายมาตรา 112 มี 3 จุดสำคัญที่อาจเป็นปัญหาที่เราเสนอให้แก้ไข

ข้อที่หนึ่ง คือการลดความหนักของโทษ ปัจจุบัน มาตรา 112 กำหนดโทษของการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้อยู่ที่จำคุก 3-15 ปี ซึ่งนับเป็นโทษที่หนักเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา และสูงกว่าโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ลดโทษการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากโทษจำคุก 3-15 ปี เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งยังคงเป็นโทษที่สูงกว่าโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ลดลงจากโทษจำคุก 0-2 ปี มาเหลือแค่โทษปรับ

ข้อที่สอง คือการกำหนดผู้ฟ้องให้ชัดเจน ปัจจุบัน มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ใคร ๆ ก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษคนอื่นได้ ซึ่งอาจส่งผลอันไม่พึงประสงค์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตัวอย่างเช่น คนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องคนอื่นด้วยมาตรา 112 ไม่ว่าจะด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ หรือด้วยความต้องการจะกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่หากจำเลยถูกดำเนินคดีหรือตัดสินว่าผิด ความรู้สึกไม่พอใจก็อาจไปตกอยู่ที่สถาบันฯ ส่งผลให้สถาบันฯ กลายเป็นคู่กรณีโดยอัตโนมัติ แม้สถาบันฯ อาจไม่ได้รับรู้ถึงกรณีดังกล่าว

“อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการที่นักการเมืองหรือข้าราชการบางกลุ่ม นำชื่อของสถาบันฯ ไปปกปิดการทุจริตของตนเอง เช่น ผ่านการระบุว่าโครงการของตนเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ โดยหวังว่าการมีอยู่ของ 112 จะทำให้คนอื่นไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ แต่หากโครงการถูกเปิดโปงว่ามีการทุจริต ความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้น อาจกระทบต่อสถาบันฯ แม้สถาบันฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวก็ตาม” พริษฐ์ กล่าว

ข้อที่สาม คือการวางขอบเขตการบังคับใช้ จริงอยู่ ว่าบทกฎหมายในมาตรา 112 ระบุถึงแค่ความผิดจากการ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และ อาฆาตมาดร้าย” แต่ในทางปฏิบัติ เราเห็นถึงความคลุมเครือและความไม่แน่นอนในการบังคับใช้มาโดยตลอด ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีการบัญญัติให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองกรณีการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธาณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน กับเหตุยกเว้นความผิด และเหตุยกเว้นโทษ สำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ณ ปัจจุบัน

นอกจากนี้ พริษฐ์กล่าวอีกว่า หากพรรคการเมืองอื่นคัดค้านข้อเสนอการแก้ไข 112 เพราะเชื่อจริง ๆว่าการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดที่ร้ายแรงถึงขั้นสมควรโดนขังคุกถึง 3-15 ปี เชื่อจริง ๆ ว่าการให้ใครฟ้อง 112 กับใครก็ได้ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อการปกป้องชื่อเสียงของสถาบันฯ หรือเชื่อจริง ๆ ว่า การแสดงความเห็นโดยสุจริตเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะทำได้ในสังคมไทย ก็เคารพสิทธิของท่านที่จะคิดเห็นดังกล่าว แม้จะขออนุญาตเห็นต่าง

แต่หากพรรคการเมืองอื่น ยังยืนยันคัดค้านข้อเสนอการแก้ไข 112 ด้วยการยกเหตุผลที่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงของสิ่งที่พรรคก้าวไกลนำเสนอ ตนก็อยากให้ท่านมีความจริงใจและจริงจังมากขึ้น ในการร่วมกันแลกเปลี่ยนถึงข้อเสนอในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์

สุดท้าย พริษฐ์ย้ำว่า นอกจากชุดนโยบาย 'การเมืองไทยก้าวหน้า' ที่เราได้เปิดต่อประชาชนไปแล้ว ยังมีอีก 8 ชุดนโยบาย รวมกันเป็น 9 ชุดนโยบาย ที่เราจะทยอยเปิดต่อประชาชนต่อไป โดยชุดต่อไปที่เราจะเปิดในวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน คือชุด 'สวัสดิการไทยก้าวหน้า' เพื่อฉายภาพให้ประชาชนเห็นถึง ระบบสวัสดิการแบบครบวงจร ที่พรรคก้าวไกลต้องการสร้าง เพื่อรับประกันความมั่นคงในชีวิตกับประชาชนคนไทยทุกคนตั้งแต่เกิดจนแก่