'อลงกรณ์' ชี้ 2565 จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ยุคใหม่ ลดก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุภาวะโลกร้อน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานมูลนิธิ Worldview Climate Foundation (WCF) บรรยายพิเศษ หัวข้อ 'ศักยภาพของโครงการบลู คาร์บอนในประเทศไทย' (Potential for blue carbon projects in Thailand) ในการประชุมนานาชาติจัดโดยมูลนิธิ Worldview International ที่กรุงเทพมหานครวันนี้ โดยแสดงวิสัยทัศน์อนาคตประเทศไทยในการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Nation) เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gases:GHGs) อย่างจริงจังตามพันธกรณีที่นายกรัฐมนตรีของไทยประกาศเป้าหมายในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์

โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลาง (Carbon Neutrality) ของคาร์บอนในปี 2050และคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon) ในปี 2065 ซึ่งทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชนเครือข่ายองค์กรประชาสังคมได้เร่งรัดดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนเช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมประมง, มูลนิธิ WCF และบริษัทเอกชนรายใหญ่เช่น เครือปูนซีเมนต์ไทย (SCG), ปตท., บริษัทเชลล์ประเทศไทย, บริษัทบางจากปิโตรเลียม รวมทั้งองค์การก๊าซเรือนกระจก (TGO) ได้กำหนดมาตรฐานของประเทศไทยว่าด้วยการรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (T-VER) และกำลังพัฒนาสู่มาตรฐานสากล

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ราคาการค้าคาร์บอน (Carbon Trading) เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวภายในปีเดียวจากคาร์บอนตันละ 34 บาท ในปี 2021 เป็น 107 บาท ในปีนี้ เชื่อมั่นว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งราคาและปริมาณแบบก้าวกระโดดและปี 2022 (พ.ศ.2565) คือ จุดเปลี่ยนสำคัญของไทยในการขับเคลื่อนโครงการบลู คาร์บอนสู่ยุคใหม่ของการลดก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุภาวะโลกร้อน

การตื่นตัวของภาคเอกชนและภาครัฐที่ดำเนินโครงการปลูกป่าบนบก โครงการปลูกป่าโกงกาง 3 แสนไร่ภายใน 10 ปีและล่าสุดคือโครงการส่งเสริมการปลูกเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลใน 22 จังหวัดติดชายทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันซึ่งดูดซับคาร์บอนสูงกว่าต้นไม้ทั่วไปถึง 5 เท่าทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการดังกล่าวยังช่วยสร้างรายได้สร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เกิดความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนประมงพื้นบ้านอีกด้วย