'ลิซ ทรัสส์' ถูกกดดันให้ออกต่อเนื่อง หลังแผนกระตุ้นศก.ไม่เข้าตา และแม้จะปลดขุนคลังที่ทำงานได้เพียง 38 วันด้วยแล้วก็ตาม

ในที่สุด นายกวาซี กวาร์เทง (Kwasi Kwarteng) รัฐมนตรีคลังผิวสีคนแรกของอังกฤษ ก็ถูกนายกรัฐมนตรีนางเอลิซาเบธ ทรัสส์ ปลดออกเมื่อตอนบ่ายของวันที่ 14 ตุลาคม ตามเวลาในลอนดอน โดยเขาได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 8 กันยายน และอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเพียง 38 วันเท่านั้น 

สาเหตุมาจากแผนงบประมาณของเขาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าของเงินปอนด์ตกหนักเมื่อแลกกับเงินดอลล่าสหรัฐฯ เมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา บวกกับ ส.ส.พรรคคอนเซอเวทีฟได้โจมตี งบประมาณที่เรียกว่า Mini-Budget  อย่างรุนแรง ลุกลามไปจนถึงความไม่พอใจต่อนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์

สำหรับสาระสำคัญของความไม่พอใจในงบประมาณ ที่นายกวาร์เทงประกาศออกมาเมื่อวันที่ 23 กันยายนนั้น เป็นการประกาศที่จะลดภาษีชุดใหญ่ของประเทศในรอบ 10 ปีที่นายกรัฐมนตรีคาดว่าจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษอย่างได้ผล 

แต่ทว่าผลลัพธ์กลับสร้างความไม่พอใจให้กับส.ส. ในพรรคของเขาเอง และมองกันว่าเป็นการอุ้มคนรวยมากกว่า และเมื่อรัฐบาลกลับลำในคำสัญญาที่ว่าจะยกเลิกการขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 19% เป็น 25% ในปีหน้า แต่เมื่อวานนี้ในการแถลงข่าวนายก ทรัสส์ประกาศยกเลิกคำสัญญานี้เสียโดยให้ขึ้นเป็น 25% ตามเดิม ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจต่อภาคธุรกิจอย่างมาก หรือการเก็บภาษีเงินได้ผู้ที่มีรายได้สูงได้เปลี่ยนมาเป็นอัตราเดียวคือ 40%

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการวิจารณ์กันมากในนโยบายของรัฐบาลคือ การประกาศลดภาษี หากแต่จะต้องไปกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายแทน 

ความไม่ชัดเจนของนโยบายและการเปลี่ยนไปมาที่เกิดขึ้นทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลของนางลิซ ทรัสส์ ถูกตำหนิและวิจารณ์อย่างมากในระยะสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังจากที่ปลดนายกวาร์เทงแล้ว นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งนายเจเรมี ฮันท์ เป็นรัฐมนตรีคลังคนใหม่ โดยนายฮันท์เคยเป็นเจ้ากระทรวงต่างประเทศ รวมถึงสาธารณะสุขมาก่อน และในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคล่าสุดนายฮันท์ ก็สนับสนุนนายริชชี่ สุหนาก คู่แข่งของนางทรัสส์ด้วย

อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์บางคนมีความเห็นว่าการปลดนายกวาร์เทงออก ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อประเทศได้นักในขณะนี้ หรือแม้แต่การขึ้นภาษีนิติบุคคลก็ช่วยได้ไม่มากพอ

ล่าสุดในรายงานข่าวโดยบีบีซีภาคภาษาอังกฤษหลังจากข่าวปลดนายกวาร์เทงไม่กี่ชั่วโมง ก็ไม่ได้ลดเสียงวิพากย์วิจารณ์รัฐบาลลงนัก แต่กลับพุ่งมาที่ตัวนายกรัฐมนตรี มีเสียงเรียกร้องจาก ส.ส.พรรคคอนเซอเวทีฟจำนวนหนึ่งให้นายกรัฐมนตรีลาออกหลังจากที่เธอแถลงข่าวเมื่อวานนี้

พรรคลิเบอรัล เดโมแครต และ หัวหน้าพรรค SNP ของสกอตแลนด์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ส่วนรัฐมนตรีคลังเงาของพรรคเลเบอบอกว่ารัฐบาลใหม่นำโดยพรรคเลเบอร์ คือ สิ่งที่ประเทศต้องการในขณะนี้

แม้จะดูว่านายกรัฐมนตรีอาจจะตกอยู่ในภาวะถูกบีบบังคับ แต่เนื่องจากพรรคคอนเซอเวทีฟมีเสียงข้างมากในสภา อาจจะไม่ง่ายนักที่จะทำให้นายกฯ ต้องลาออกและมีเสียงจากส.ส. บางกลุ่มก็เตือนว่าสมาชิกพรรคที่เพิ่งจะโหวตเลือกเธอเข้ามาเร็วๆ นี้จะคิดอย่างไรเมื่อส.ส.ลูกพรรคเองไล่นายกรัฐมนตรีออก

นี่คือความไม่แน่นอนทางการเมืองของอังกฤษ เพราะจะเห็นได้ว่านายกวาร์เทง เพิ่งจะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในสหรัฐฯ ในระหว่างเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีคลังว่า เขาจะยังอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไป แต่ไม่นานนักเขาก็รีบเดินทางกลับลอนดอนก่อนเวลากำหนดและถูกปลดในตอนบ่ายวันศุกร์ นายกวาร์เทงเป็นเพื่อนสนิทสนมกับนายกรัฐมนตรีทรัสส์อย่างมาก

อย่างไรก็ตามในการให้สัมภาษณ์ตอนบ่ายของวันศุกร์ ลิซ ทรัสส์ ยังยืนยันว่า เธอจะยังอยู่แก้ปัญหาของประเทศต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านั้นผลการสำรวจความคิดเห็นของ You Gov จะปรากฏว่าคนเห็นว่าเธอไม่มีความสามารถที่จะบริหารประเทศ

การเมืองของอังกฤษกำลังเข้มข้น อนาคตของนายกรัฐมนตรีทรัสส์ที่เพิ่งจะได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคคอนเซอเวทีฟเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมาจะยืนหยัดอยู่ในตำแหน่งอีกนานเพียงใด, สมาชิกพรรคเลือกเธอ แต่ ส.ส. พรรคไม่ได้เลือก


อ้างอิง:  Who is Kwasi Kwarteng? The chancellor out after 38 days,BBC News
:This is difficult, Liz Truss admits after major U-turn,BBC News