โหลดไว้ปลอดภัย!! Thaiwater สุดยอดสแกนภัย 'น้ำ-อากาศ' ข้อมูลรอบด้าน ช่วยคนไทยรับมือภัยพิบัติก่อนมาถึงตัว

จากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือโดยอาศัยแนวคิดการลดความเสี่ยงตามหลักสากล คือ รู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความตระหนักในการลดความเสี่ยง ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดยระยะก่อนเกิดภัยการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ THE STATES TIMES ขอแนะนำเว็บไซต์ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ thaiwater.net ที่ให้ข้อมูลต่าง ๆ ก่อนเกิดภัย ของ สสน. หรือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีการบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังประชาชน จุดเด่นของ Thaiwater ให้ข้อมูลสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำได้อย่างละเอียด เช่น ระบบติดตามและแนวโน้มสถานการน้ำท่วม กล้อง CCTV ระบบเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน สถานการณ์น้ำ กทม. หรือสามารถอธิบายผังน้ำ เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยได้ วิธีการดูข้อมูลก็ง่าย ๆ เพียงคลิกเข้ามาในหัวข้อ ติดตามสถานการณ์น้ำ และเลือกผังน้ำ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ย่อ) ดังแสดงในภาพที่ 1

 

ภาพที่ 1 ผังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 (ทำกราฟฟิกจุด (A) สถานีบางไทร, (B) จุดวัดบริเวณสะพานนวลฉวี, (C) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)

ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สสน. ได้อธิบายภาพผังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเปรียบเสมือนเป็นลู่ถนนของน้ำ ซึ่งไหลมาจากต้นน้ำ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเราสามารถทราบอัตราการไหลของน้ำผ่านจุดสถานีวัดต่าง ๆ ได้ ซึ่งมีหน่วยเป็น cms หรือ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เช่น...

(A) สถานีบางไทร 3,409/3,500 cms หมายถึง ปัจจุบันที่สถานีบางไทรมีอัตราการไหลของน้ำผ่านอยู่ที่ 3,409 cms ซึ่งสถานีบางไทรสามารถรองรับอัตราการไหลของน้ำได้สูงสุดที่ 3,500 cms และนอกจากนี้ยังสามารถทราบความสูงของระดับน้ำที่เทียบกับค่าระดับน้ำทะเลปานกลาง (msl) 

(B) จุดวัดบริเวณสะพานนวลฉวี (CPY014) 2.75/2.50 msl อธิบายได้ว่าขณะนี้ระดับน้ำบริเวณดังกล่าวอยู่ที่ 2.75 เมตร (สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือ msl) ซึ่งสูงกว่าระดับตลิ่งหรือระดับเฝ้าระวังที่ 2.50 msl หมายถึงขณะนี้ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง (2.75 > 2.50) อาจเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในบริเวณนั้นได้ถึง 0.25 เมตร เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถแสดงถึงปริมาณน้ำในเขื่อนว่ามีปริมาณมากน้อยอย่างไร

(C) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (88%) หมายถึงปริมาณน้ำในเขื่อนมีปริมาณมากถึง 88% ของความจุ เป็นต้น

นอกจากนี้ Thaiwater ยังมีการนำเสนอข้อมูลปริมาณน้ำฝนแบบปัจจุบัน (Realtime) เพียงคลิก หัวข้อติดตามสภาพอากาศ และเลือกฝน ก็จะสามารถเห็นข้อมูลวิเคราะห์สภาพอากาศ ดังภาพที่ 2 

 

ภาพที่ 2 และ 3 แผนที่ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. ย้อนหลัง วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ดร.สุรเจตส์ ยังอธิบายอีกว่า แผนที่ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. ย้อนหลัง แสดงถึงข้อมูล ปริมาณน้ำฝนในทุกพื้นทั่วประเทศไทย และสามารถดูปริมาณน้ำฝนในแต่ละจังหวัด โดยอธิบายด้วยสีอ่อนถึงสีเข้ม ตั้งแต่ฝนตกเล็กน้อย ปานกลาง หนัก และหนักมาก ได้อย่างง่ายดาย และยังสามารถแสดงข้อมูล สถานีวัดระดับน้ำ พื้นที่น้ำท่วมในรอบ 7 วัน ภาพฝนสะสม 24 ชม. ที่ผ่านมา เส้นแม่น้ำ และยังมีการสรุปการติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พ.ศ.2565 ที่ทำขึ้นเฉพาะกิจ อีกด้วย 

สำหรับการนำเสนอข้อมูลทั้งหมดนี้ ถือเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลมาประเมินและวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา ก่อนเกิดภัยพิบัติ ขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถรับทราบถึงข้อมูลและเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติใกล้ตัวที่จะเกิดขึ้น โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.thaiwater.net/  


อ้างอิง : แนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติ: จากภาครัฐสู่ชุมชน วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563)