'พิธา - ศิริกัญญา' เข้าพบกลุ่มไฟฟ้าฯ สอท. ร่วมหาแนวทางยกระดับเทคโนโลยีประเทศไทย

ในวันที่ 20 กันยายน 2565 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลในฐานะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจของสภาผู้แทนราษฎรได้เข้าพบ ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยกระดับเทคโนโลยีของประเทศ

พิธากล่าวว่า หลังจากปิดสมัยประชุมสภาตนก็ได้นั่งรถไฟไปพบกับมุขมนตรีและสภาอุตสาหกรรมของปีนัง เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ต่อเนื่องกันในวันนี้จึงได้ขอเข้าพบประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ ซึ่งภาคอิเล็กทรอนิกส์เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับประเทศ เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกกว่า 2.2 ล้านล้านบาท และจ้างงานถึง 750,000 คน ในวันนี้จึงได้มาหารือถอดบทเรียนการพัฒนาอุตสาหกรรมตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา และทำให้ได้เข้าใจถึงสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมในไทยต้องสู้มาตลอดหลายสิบปี ในเรื่องเช่น

1.) โครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าสำเร็จรูป ถึงแม้เรื่องนี้จะมีมาตรการมารับมือบ้างแล้ว แต่ก็ทำให้สินค้าแบรนด์ของไทยเองไม่สามารถตั้งไข่ได้ในยุคแรกเริ่ม ผลทำให้ธุรกิจที่ต้องการขายสินค้าให้ตลาดไทย จึงมีการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน และส่งออกกลับมาไทยมีความคุ้มค่ามากกว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการออกระเบียบมาช่วยผู้ประกอบการเรื่องนี้

2.) เรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เรามีมาตรฐานบังคับของสินค้าอุตสาหกรรมไม่มากเพียงพอจะป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำจากต่างประเทศ เช่น RoHS ฯลฯ ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารต้องห้ามเข้ามาตีตลาด หรือนำเข้าเป็นขยะเข้ามาเลยได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกของไทยต้องทำตามมาตรฐานที่สูงของต่างชาติในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้ไม่มี ตะกั่ว ปรอท และแคดเมี่ยม เพื่อการส่งออก ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงกว่า

3.) ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีในทุกระดับนับแสนคน ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงอาชีวะ และวิศวกร ทำให้ต่างชาติไม่สนใจที่จะมาลงทุนในไทย และภาครัฐก็ไม่ประสบความสำเร็จถึงแม้มีความพยายามอย่างจริงจังจากที่จะพัฒนาบุคลากรด้าน STEM มีความพยายามในอดีตที่ผ่านมาที่จะนำอาชีวะจากต่างขาติเข้ามาเรียนในโรงงานเพื่อช่วยงานในอุตสาหกรรม ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงในวงกว้างได้ เพราะขาดการประสานงานกันระหว่างการอาชีวะ กระทรวงแรงงาน ทำให้ภาคธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐเสี่ยงผิดกฎหมายแรงงานเสียเอง  

“นอกจากนี้จากการถอดบทเรียนร่วมกันยังทำให้ได้เห็นภาพว่าภาคอิเล็กทรอนิกส์เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมครับ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่รองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจที่คาร์บอนเป็น 0 หรือ Net-Zero Industries ที่ทั้งโลกต้องแข่งกันในอนาคต ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ SMART Grid ต่างๆ ก็เป็นอิเล็กทรอนิกส์เป็นพื้นฐานทั้งสิ้นครับ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการแปลงและควบคุมพลังงานไฟฟ้า หรือ Power Electronics ที่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ หรือแม้แต่การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีใช้เทคโนโลยีที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ก็สามารถเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ดีลดการทำเหมืองแร่ได้ โดยในรายงานของ UNEP ระบุว่า ในขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแร่ทองคำต่อน้ำหนักมากกว่าสินแร่ทองคำในการทำเหมืองทองคำจริงๆ ถึง 100 เท่า” นายพิธากล่าว