'สันติ' ถามรัฐบาลออก พ.ร.ก.ค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมัน เพิ่มหนี้สาธารณะ จำเป็นจริงหรือ? คาใจ 3 ปม แก้พลังงานแพงไร้คำตอบ ซัด ไร้ความสามารถบริหารประเทศ ปชช.ต้องทนรับสภาพอีกนานเท่าไหร่?

วันที่ 18 ส.ค. 65 ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นที่คาใจต่อกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการพิจารณาวาระลับที่มุ่งแก้ปัญหาฐานะกองทุนน้ำมัน ที่มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์รวมไปถึง 117,394 ล้านบาท (รายงานเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565) โดยมีมติอนุมัติการออก พ.ร.ก. เพื่อค้ำประกันการกู้ยืมของกองทุนน้ำมัน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และยังอนุมัติงบกลาง 5 หมื่นล้านบาท เพื่อบริหารสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ในระหว่างรอการออก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว

โดยระบุว่า เป็นที่เข้าใจได้ว่า ฐานะกองทุนน้ำมันมีปัญหาอย่างหนักในขณะนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่การออก พรก. ซึ่งจะสร้างภาระให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ และหากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ต้องนำพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว เข้าพิจารณาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบ รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบในการออกพระราชกำหนด อย่างไรหรือไม่

การแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่ผ่านมานั้น มีคำถามที่ยังค้างคาในสังคมอีกมาก ที่รัฐบาลไม่เคยอธิบายให้เกิดความชัดเจนได้ เช่น

1. โครงสร้างราคาน้ำมันบิดเบี้ยว เพราะค่าการกลั่นที่ประหลาดมหัศจรรย์ อย่างน้อยที่สุด ถ้ายอมรับว่าต้องอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ เพราะเป็นตลาดซื้อขายที่มีสภาพคล่องสูง (ซึ่งผมก็ยังไม่เห็นด้วยอย่างหมดใจ) แต่การบวก FIL (freight, insurance and loss) ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง เพราะไม่มีการขนส่งจากต่างประเทศ ทำไมไม่ลบออก ซึ่งสามารถทำได้ในระยะสั้น

2. กำไรโรงกลั่นที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ชี้ให้เห็นได้ชัดเจนว่า การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เป็นผลผลิตจากโรงกลั่น เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนผู้บริโภคอย่างมากเกินกว่าสมควร ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจในการแก้ปัญหา แต่กลับไปอ้อนวอนขอร้องให้โรงกลั่นเสียสละกำไรบางส่วน (ซึ่งเล็กน้อยมาก) เพื่อมาช่วยชดเชยการขาดดุลของกองทุนน้ำมัน

3. การออกพระราชกำหนด ตามมติในการประชุมวาระลับของ ครม. ในเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่ชอบด้วยกระบวนนิติวิธีหรือไม่ เพราะการออกพระราชกำหนดนั้น มาตรา 172 รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ว่า 

"ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์ จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ..."

การออก พ.ร.ก. นี้ จะเป็นไปตามความจำเป็นรีบด่วน ด้วย 4 เหตุที่ปรากฎในวรรคหนึ่ง จริงหรือไม่ 

“ข้อสงสัยเหล่านี้ ทำให้หมดข้อสงสัยในความสามารถของรัฐบาลต่อการบริหารประเทศ เพราะไม่มีความโปร่งใส ไม่เห็นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ หรือขาดความสามารถโดยสิ้นเชิง ประชาชนผู้รับกรรม จำเป็นต้องทนกับสภาพอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไรครับ ต้องทนกับผู้บริหารประเทศที่ไม่มีความสามารถในการทำงานอย่างนี้ ไปอีกนานเท่าไรครับ” ดร. สันติ กล่าว


https://www.facebook.com/100000475907365/posts/pfbid02F5fvPVFBCfZH8z2yEeV95Rd4WFSx9UQtjTGiYm6Y6e12FRd9oZzxNb4myhAJkbZFl/