อรุณี ติงรัฐบาลหยุดช่วย ปชช.แบบ 'สงเคราะห์' แก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาไม่ยั่งยืน แนะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้-ลดค่าเรียน

ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และอนุกรรมาธิการงบประมาณการศึกษาปี 2566 กล่าวว่า มีความกังวลสถานการณ์เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จากรายงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,000 คน ตั้งแต่ปี 2564-2565 แม้ในปัจจุบัน กสศ.และภาคีภาคเอกชน จะได้ทำร่วมทำโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” แต่ก็ยังมีเด็กไทยอีกเกือบ 20,000 คนที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างถาวร เนื่องจากผู้ปกครองจำนวนมากไม่มีงานทำและกลายเป็นคนยากจนอย่างเฉียบพลันภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ค่าครองชีพพุ่งสูงและสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ตระหนักและออกมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน  

ดร.อรุณี กล่าวต่ออีกว่า แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืนที่พลเอกประยุทธ์ ควรจะกระทำเพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสได้เรียนโดยเท่าเทียม ไม่ควรมีใครต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร คือการที่รัฐบาลต้องมุ่งเป้าในการสร้างรายได้ให้ประชาชน  ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ เพราะหากแก้ไขปัญหาแบบ "รูปหน้าปะจมูก" ตามเสียงบ่นว่าของประชาชน ก็จะเกิดการสงเคราะห์เป็นครั้งๆ แล้วจบไป  เหมือนอย่างล่าสุดที่กระทรวงมหาดไทยสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยเหลือเรื่องชุดลูกเสือ เนตรนารีกับครอบครัวฐานะยากจน แต่ประชาชนชนชั้นกลางที่จนลงและประชาชนหาเช้ากินค่ำที่ลำบากแสนสาหัสไม่ต่างกัน ควรเป็นความผิดใครกันแน่ ระหว่างรัฐบาลหรือประชาชน

"พลเอกประยุทธ์ต้องไม่ลืมว่า การศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ตอนนี้เรียนฟรีไม่มีอยู่จริง ถือว่าเป็นความจริงที่เจ็บปวด รัฐบาลอย่าใช้ระบบสงเคราะห์กับประชาชน ทั้งที่การศึกษาควรเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ" ดร.อรุณี กล่าว