'อ.นันทน' ชี้!! แวดวงทนายความเสื่อมทรามลง เพราะทนายบางกลุ่ม 'ขาดจิตสำนึก-ไร้มารยาท'

วันนี้ (23 มิ.ย. 65) อาจารย์นันทน อินทนนท์ ทนายความและที่ปรึกษากฏหมาย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก 'Smart Lawyer Team' โดยระบุว่า...

ทนายความกับสื่อสังคมออนไลน์

หลายปีที่ผ่านมาประชาชนทั่วไปคงได้เห็นบทบาทของทนายความในสื่อมวลชนกันอย่างมาก ทนายความบางคนมีจิตสำนึกก็ให้ข้อมูลทางกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่ทนายความบางคนกลับพยายามสร้างความนิยมให้แก่ตัวเอง โดยการบิดเบือนข้อกฎหมายให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งอวดอ้างความสามารถในการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริง ความสามารถในการว่าความ หรือการรู้จักบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงราชการ

ทนายความบางคนถึงขนาดกับแย่งชิงคดีความกันผ่านหน้าสื่อมวลชนต่าง ๆ บางคนรับปรึกษาคดีความให้แก่ฝ่ายหนึ่ง แต่ต่อมากลับไปให้คำปรึกษาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง หรือร่วมกับบุคคลที่ไม่ใช่ทนายความในการดำเนินคดีเยี่ยงเป็นทนายความเสียเอง

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน แต่ยังทำให้ภาพพจน์และเกียรติภูมิของวงการทนายความโดยรวมเสื่อมเสียลงไปด้วย

ในอันที่จริงนั้น สภาทนายความนอกจากจะเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่โดยตรงในการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนแล้ว ยังมีหน้าที่ในการควบคุมมรรยาทของทนายความให้มีความประพฤติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพด้วย สภาทนายความจึงมีข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ทั้งในแง่ของมรรยาทที่มีต่อตัวความ ต่อทนายความด้วยกันและต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี
ตามข้อบังคับฯ นี้ การยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องคดีกัน การอวดอ้างว่าตนเองมีความรู้มากกว่าทนายความอื่น การอวดอ้างว่ามีสมัครพรรคพวกที่สามารถให้ความช่วยเหลือทางคดี การเปิดเผยความลับทางคดีที่ตนล่วงรู้มาแก่บุคคลภายนอก การนำความรู้ที่ได้มาจากคู่ความฝ่ายหนึ่งไปช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นปรปักษ์ การแย่งคดีความจากทนายความอื่น หรือการมีบุคคลที่ไม่ใช่ทนายความทำหน้าที่จัดหาคดีความมาให้ ล้วนแต่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ การที่ทนายความนำเสนอข้อเท็จจริงในทางคดีต่อสื่อมวลชน นอกเหนือไปจากการอธิบายข้อกฎหมายเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนแล้ว จึงแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าจะเป็นการกระทำผิดมรรยาททนายความตามข้อบังคับนี้

ในอดีต ทนายความถือเป็นอาชีพที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากสังคม ก็เนื่องมาจากการปฏิบัติตนในการให้ความรู้ทางกฎหมายอย่างถูกต้อง ทนายความส่วนใหญ่ดำรงตนอยู่ในมาตรฐานจริยธรรม แม้ว่าทนายความส่วนน้อยจะประพฤติผิดมรรยาทบ้าง ก็ไม่อาจทำให้ภาพพจน์และศักดิ์ศรีของทนายความตกต่ำลง

แต่ในปัจจุบันนั้น สื่อสารมวลชนต่าง ๆ มีโอกาสในการนำเสนอข้อมูลต่างยิ่งขึ้น ทนายความก็มีช่องทางในการสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ตนเองมากยิ่งขึ้น การที่ทนายความแม้เพียงจำนวนไม่มากนักอาศัยช่องทางของสื่อมวลชนในการสร้างผลประโยชน์แก่ตัวเองโดยผิดจริยธรรมทางวิชาชีพ จึงทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง

สภาทนายความจึงมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมความประพฤติของทนายความให้เป็นไปตามมาตรฐานมรรยาทที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นแล้ว ประชาชนก็จะขาดความเชื่อถือในตัวทนายความ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบการอำนวยความยุติธรรมของประเทศของเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นันทน อินทนนท์


ที่มา : https://www.facebook.com/111109134858661/posts/pfbid036M8JC1JkRVQAaybFwBnnSbbF4pcPBRt4RZuC6PJNgTuUvqVgNv3GRgeDKh3LWjatl/?d=n