27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 วันสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มหาวิทยาลัยเปิดเพื่อราษฎรแห่งแรก

27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 วันสถาปนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) (Thammasat University : TU) ชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งคือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)

ย้อนไปก่อนหน้านั้น พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.2476 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา นับเป็นมหาวิทยาลัยเปิดเพื่อราษฎรแห่งแรกตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎรและ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดยหลักที่ 6 กล่าวว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

ต่อมา วันที่ (27 มิถุนายน 2477) สมเด็จฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ 7 เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีสถาปนา โดยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ กล่าวรายงาน

ในปีแรก มีผู้สมัครเรียน 7,094 คน

สำนักหอสมุดได้รับการก่อตั้งในปีเดียวกัน แต่เปิดให้บริการได้ครั้งแรก เมื่อปี 2479 เดิมเป็นแผนกตำราและห้องสมุด

พ.ศ. 2480 มีการตราข้อบังคับให้เปิดชั้นเตรียมปริญญา โดยกำหนดให้รับผู้สอบไล่ได้ชั้นมัธยมบริบูรณ์เข้าศึกษา 2 ปี เพื่อเตรียมคนเข้าศึกษาหลักสูตร “ธรรมศาสตร์บัณฑิต”

ในช่วงเริ่มต้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งอยู่ที่โรงเรียนกฎหมายเดิม เชิงสะพานผ่านฟ้าภิภพลีลา ต่อมาเมื่อวันที่ (9 เมษายน 2478) มหาวิทยาลัยขอซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์เพิ่มเติมและย้ายมาอยู่ที่นี่ ภายหลังจากคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจเมื่อวันที่ (8 พฤศจิกายน 2490) ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า "การเมือง" ออก เปลี่ยนเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และความเป็นตลาดวิชาหมดไป จากนั้นในปี 2518 สมัย ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ได้ขยายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น และซื้อที่ดินเพิ่มเติมที่รังสิต 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งผลิตบัณฑิต ปัญญาชน นักวิชาการ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย และเป็นสถาบันการศึกษาที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของบ้านเมืองมาโดยตลอด ทั้ง เหตุการณ์ "14 ตุลา 16" และ "6 ตุลา 19"


อ้างอิง : https://tu.ac.th/history_tu