‘ทิพานัน’ ย้อนแสบ ‘ทักษิณ’ ปมภาวะผู้นำ คดีทุจริตเพียบ ยังกล้าพูด ‘คนชอบขโมยเป็นผู้นำไม่ได้’

‘ทิพานัน’ ย้อน ‘ทักษิณ’ กล้าพูดคนชอบขโมยเป็นผู้นำไม่ได้-กฎหมายไหนไม่เอื้อต้องแก้ วอนเลิกพูดเอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้คนอื่น ฝากย้อนดูตนเองทุจริตขโมยเงินชาติ-ประชาชนไปเท่าไร ยกปมสั่งเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ - แก้กม.ภาษีสรรพสามิตเอื้อค่ายมือถือ 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.จอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาชื่นชมนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่ไลฟ์สดมีภาวะผู้นำ โปร่งใสเทียบตนเองตอนเป็นนายกฯว่า อ่านข่าวแล้วได้แต่สงสัยว่าท่านอดีตนายกรัฐมนตรีชื่นชมนายชัชชาติอย่างจริงใจ หรือมีเจตนาอื่นใด หรือจะเคลมว่าตนเองเป็นต้นแบบหรือโมเดลของนายชัชชาติกันแน่ จึงได้พูดในตอนหนึ่งว่าสมัยที่ตนเองเป็นนายกฯทำเวิร์กช็อปทำงานแล้วถ่ายทอดสดช่อง 11 ตลอดเวลา ซึ่งหากพี่น้องประชาชนจำกันได้ ก็คือแม้แต่ในช่วงที่นายทักษิณไม่ได้เป็นนายกฯ แต่มีสถานะเป็นนักโทษหลบหนีคดีแล้ว ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังมีการอนุญาตให้ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดสดนายทักษิณ เป็นประธานพิธีการแข่งขันมวยไทยมาจากฮ่องกง ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับนายทักษิณ ที่ออกมาระบุว่า “ถ้าคิดอยากจะเป็นผู้นำแล้วเอาแต่คิดจะขโมยคนของคนอื่น เป็นผู้นำไม่ได้” เป็นความเห็นที่ถูกต้องที่สุด เพราะผู้ที่ขโมยของคนอื่น ไม่สมควรเป็นผู้นำประเทศจริงๆ ดังตัวอย่างที่นายทักษิณ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีทุจริตคอร์รัปชัน ที่เปรียบเหมือนเป็นขโมย  ลักทรัพย์นายจ้าง ซึ่งนายจ้าง ก็คือประชาชนที่จ่ายภาษีเป็นเงินเดือนให้นักการเมืองมาทำงานเพื่อประชาชน แต่กลับถูกกระทำการทุจริตเบียดบังเข้าพกเข้าห่อ และไม่ยอมรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนยุติธรรมแต่กลับหลบหนีออกนอกประเทศ เช่น กรณีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ Exim Bank อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลเมียนมาเมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นเหตุให้นายทักษิณถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่น เนื่องจากภายหลังรัฐบาลเมียนมาได้ซื้อขายสินค้ากับบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 400 ล้านบาท เป็นคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้จำคุก 3 ปี

ส่วนที่นายทักษิณแสดงความเห็นให้มีการแก้ไขกติกาที่เป็นอุปสรรคติดขัดต่อการพัฒนาประเทศนั้น น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เป็นสิ่งที่นายทักษิณถนัดและคุ้นเคย ในการแก้ไขกติกา เหมือนกับกรณีที่สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีแก้ไขกฎหมายลดภาษีค่ายโทรศัพทย์มือถือจาก 50% มาอยู่ที่ 10%และยังให้หักเงินที่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต ไม่ต้องนำมาคิดเป็นรายได้หรือคิดเป็นค่าสัมปทาน ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่าปัญหาของเรื่องนี้ คือ การที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป เป็นคู่สัญญากับภาครัฐอยู่ และนายทักษิณ ก็ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวผ่านตัวแทนหรือนอมินี การแก้กฎหมายภาษีสรรพสามิต 2 ครั้งดังกล่าว จึงเป็นการให้ประโยชน์นายทักษิณและบริษัทโดยใช้อำนาจการเป็นนายกรัฐมนตรี จนทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ถึง 66,000 ล้านบาทซึ่งศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 5 ปี

“นายทักษิน ชอบพูดเอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น จนลืมมองตนเองว่า รายได้ที่รัฐสูญเสียไปจากการแก้ไขกติกาของนายทักษิณ  66,000 ล้านบาทนี้ คือเงินที่นายทักษิณ ขโมยไปจากประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นตรรกะที่ว่า คิดอยากจะเป็นผู้นำแล้วเอาแต่คิดจะขโมยคนของคนอื่น เป็นผู้นำไม่ได้จึงเป็นความจริงดังตัวอย่างที่เห็นได้จากคดีของนายทักษิณเอง เป็นความเห็นที่สุดยอด”น.ส.ทิพานัน กล่าว