'พงศ์พรหม' ชี้!! ดราม่า Car seat สะท้อนสังคมไทย ประชาชนขาดความเข้าใจ ส่วนภาครัฐก็ไม่สื่อสาร

นายพงศ์พรหม ยามะรัต รองโฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับ ดราม่าเรื่อง Car seat ทำให้สังคมเห็น 2 อย่าง คือ การไม่เข้าใจของประชาชน และการไม่สื่อสารของรัฐ ว่า...

ในความเห็นผม

กฎหมายนี้ดี ต้องบังคับใช้ โดยไม่ต้องมีข้ออ้าง

ผมเคยพูดถึงขนาดตลาดแต่งรถไปแล้ว ใครลองไปดูตามหัวเมือง สระบุรี ขอนแก่น โคราช สุราษฎร์ธานี ฯลฯ ได้ แต่งรถกันด้วยเงินหนักกว่า car seat เป็นหลายสิบเท่า

- เปลี่ยนเทอร์โบ แต่งท่อ 
- มอเตอร์ไซค์ยุคนี้แต่งกันเป็นแสน

สถิติฟ้องครับ คนซื้อรถ ซื้อมอเตอร์ไซค์ แต่งกันหนักมากที่สุดในอาเซียน

- ลองดู Isuzu DMax 4 ประตูมือ 2 ราคา 4.8 แสน
- มาดู Ecocar มือ 1 ราคา 4.8 แสน
- ราคา Car seat “คุณภาพดี” เริ่มต้นก็ 4 พันกว่าบาท
- มันคือแค่ “1% ของราคารถ” 

>> เริ่มง่ายๆ ครับ ทำไมต้องใช้ Car seat?

ผมว่าคลิปนี้เข้าใจง่ายสุด https://m.youtube.com/watch?v=0AEu1xQLAJ8

ก็เพราะเด็กยังมีสรีระ กล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง อุบัติเหตุชนหน้ารถ ข้างรถ เบาๆ ก็ทำให้หลังคด คอหัก พิการ หรือเสียชีวิตได้

>> ลองดูคลิปเพิ่มครับ https://m.youtube.com/watch?v=3YF34gzwiaQ

แล้วถ้ามองว่ามนุษย์มีความสำคัญ ก็จะเข้าใจว่ามันสำคัญกว่าเหล้า ความสนุก การแต่งรถของผู้ใหญ่มากมาย 

>> คราวนี้มาดูการใช้

การจะซื้อ Car seat ต้องดูอะไรบ้าง?
1.) ดูอายุ และความสูงลูกคุณ

2.) ดูชนิดเบาะรถคุณ มี Isofix หรือ ไม่มี ซึ่งพูดตรงๆ ไม่ใช่ปัญหา แค่มี Isofix ก็จะทำให้สะดวก และการยึดฐานแน่นหนาหน่อย แต่หากไม่มี การใช้ Seatbelt รัดในรุ่น Car seat ที่ออกแบบให้ใช้กับเบาะที่ไม่มี Isofix ก็จะมีจุดยึดแน่นหนาไม่ต่างกัน

3.) ดูชนิด seat belt รถคุณ แม้รถส่วนใหญ่จะเป็น belt 3 จุดหมดแล้ว แต่ก็ยังมีรถเช่น Hyundai H-1 ที่เบาะแถว 2-4 เป็น seat belt 2 จุดรัดเอวแบบเก่าอยู่ เป็นต้น

4.) Car seat ได้มาตรฐานรับรองจากอะไร? เริ่มต้นก็ มอก. กระทรวงอุตสาหกรรม อย่างน้อยมั่นใจได้ว่าดีแล้ว แต่ตัวที่แพงขึ้น ก็จะเริ่มมีมาตรฐานที่สูงกว่าไปเรื่อยๆ เช่น TUV, NHTSA ซึ่งมักจะหมายถึงมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นไปอีก

>> อันนี้ต้องเน้นหลายๆ ทีว่า...

Car seat ที่ได้รับมาตรฐานรับรอง แล้วมีราคา 3-4 พันบาทนั้น ยังไงก็ดี และปลอดภัย “มาก” กว่าการที่จะให้ลูกหลานคุณนั่งเบาะติดรถ ในขณะที่เขายังตัวเล็ก

เพียงแต่ในรุ่นที่สูงขึ้น ก็จะมีโครงสร้างที่แข็งแรง และปกป้องการชนได้หลายทิศทางมากกว่า

>> แล้วการใช้ Car seat หละ?
อันนี้รัฐควรออก Guideline ครับ ไม่ใช่ออกกฎหมายแล้วจบ

ในแต่ละประเทศจะกำหนดการบังคับไม่เหมือนกัน แต่คล้ายกัน

1.) เด็กอายุ 1-3 ปี ให้นั่ง “Rearward facing” หมายถึงหันหลังให้คนขับ (ตามองไปท้ายรถ) เพราะคอเด็กยังอ่อน หากเมื่อเกิดอุบัติเหตุการชนด้านหน้าแค่หนักกลางๆ ก็อาจจะทำให้คอหักได้

ส่วนผมเองมีกฎว่าในการเดินทางไกล ผมจะให้ลูกผมนั่ง Rearward facing ถึง 4-5 ขวบ เพราะอุบัติเหตุบนถนนในไทยเยอะเหลือเกิน

ตรงนี้มีข้อแม้ว่า หากลูกคุณยังตัวเล็ก ก็ยังสมควรจะให้นั่ง rearward facing ได้จนถึง 4 ขวบ

2.) เมื่ออายุ 3-7 ขวบ (หรือ 4-7 ขวบ) ให้สามารถนั่ง Car seat เป็นแบบ Forward facing เหมือนผู้ใหญ่ได้ แต่ก็อีก เน้นอีกทีว่าในการเดินทางไกล ผมยังจะให้ลูกนั่ง Rearward จนถึง 5 ขวบ โดยที่อาจมีคนแย้งว่าเมื่อลูกเริ่มตัวสูงแล้ว การนั่งงอขานานๆ บนรถ อาจทำให้เด็กเมื่อย

ในกรณีนี้เคยทำ research ในเว็บต่างประเทศ พบว่าหลายที่ก็แนะนำแบบเดียวกัน โดยมีข้อแนะนำว่าในการนั่ง Rearward ที่จะทำให้เด็กต้องนั่งคล้ายๆ ขัดสมาธิชนกับเบาะไปตลอดทางนั้น pressure อยู่ที่ก้น ไม่ใช่ขา ดังนั้นเด็กจะไม่รู้สึกเมื่อย หรือหากเมื่อย ก็ให้พักบ้างทุกๆ การแวะพักระหว่างทาง เช่น 2-3 ชม. 

3.) เมื่อลูกอายุ 7-12 ปี (บางประเทศแนะนำ 8-12 ปี) ให้ใช้ Booster ซึ่งก็คือ Car seat ที่มีความบางนั่นแหละ โดยเค้าออกแบบมาเพื่อให้เด็ก fit กับ Seat belt รถ โดยการดันหลัง และขาให้สูงขึ้น นั่นเอง

และหลัง 12 ปีไปแล้ว ก็ให้ใช้ Seat belt ติดรถตามปกติ

จริงๆ เรื่องความปลอดภัยบนถนน คนไทยเรา “ไม่ฟัง” วิศวกรผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ออกแบบถนนเลย

เค้าคำนวณมา เช่น

รถรุ่นนี้ชนด้วยความเร็วแค่ 50 กม./ชม. ก็จะตาย เพราะมี momentum รถมาร่วม

คนไทยก็จะบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก”

>> ผลก็คือ

ตอนนี้ไทยตายบนถนนอันดับ 2 ของโลก

อันดับน่ากลัวขนาดนี้ จะยังออกมาต่อต้าน และดราม่ากันไม่ได้แล้วหละครับ

เราต้องเอาสมอง และใจมาช่วยกันมากกว่า

1% ของราคารถ ช่วยลูกคุณได้!!


ที่มา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5438898769453550&id=100000004424101