อีอีซี แจงไม่เกี่ยวปมร้อน ท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ชี้ เป็นอำนาจความรับผิดชอบ ‘กรมธนารักษ์’

ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับ การประมูลท่อส่งน้ำ โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก นั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขอให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงว่า การประมูลท่อส่งน้ำ ดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามภารกิจและภายใต้อำนาจของ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สินของรัฐ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ขั้นตอน หรือการตัดสินใดๆ ต่อการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก แต่ประการใด 

ที่ผ่านมา สาระสำคัญของการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก พอสรุปได้ดังนี้ 

1.) การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (ESB) คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 และวันที่ 12 กันยายน 2535 อนุมัติให้การประปาส่วนภูมิภาค จัดตั้งบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (East Water) เพื่อเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบการพัฒนาและดำเนินการดูแลระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ประสานงานให้บริษัทฯ เช่า/บริหารทรัพย์สินจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันท่อส่งน้ำสายหลักนี้ จะหมดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ประกอบด้วย 

(1) โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย 
(2) โครงการหนองปลาไหล - หนองค้อ 
(3) โครงการหนองค้อ - แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) 

2.) เมื่อหมดสัญญาทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ดังนั้น ก่อนหมดสัญญา กรมธนารักษ์ จึงดำเนินการเพื่อสรรหาเอกชนมาบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักภาคตะวันออกต่อไป ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสรรหาเอกชน