‘ลิกเตนสไตน์’ ยกกรณีรุกรานยูเครนของทัพรัสเซีย ต้องจำกัดสิทธิ์การ Veto ของเหล่าสมาชิกถาวร

เมื่อไม่นานมานี้ มีประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันถึงสิทธิ์ในการ Veto (สิทธิยับยั้ง) ของสมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติ เพื่อยับยั้ง ตีตกมติ หรือประเด็นที่ต้องการหาข้อตกลงร่วมในการปฏิบัติของบรรดาประเทศสมาชิกในโลก

โดยประเด็นร้อนล่าสุดที่ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมใน สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก็คือ การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย

ทั้งนี้ ประเทศลิกเตนสไตน์ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหัวหอกสำคัญในการเปิดประเด็นการจำกัดสิทธิ์การ Veto ของประเทศสมาชิกถาวรใน สภาความมั่นคง อันเนื่องจากรัสเซียเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติ ที่ได้รับสิทธิ์ Veto ได้อย่างไม่จำกัด

และรัสเซียก็จะใช้สิทธิ์นั้นขัดขวางมติ รวมถึงการทำงานของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทางลิกเตนสไตน์ชี้ว่า เป็นการผิดเจตจำนงขององค์กร และยังขัดต่อหลักการส่งเสริมสันติภาพของโลก

ในปัจจุบัน ประเทศสมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติมีอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีน และรัสเซีย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2

ถึงแม้โลกจะผ่านยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มานานเกือบ 75 ปีแล้ว และมีหลายประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า กลายเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลในโลกไม่ต่างจากสมาชิกถาวรดั้งเดิม และเคยพยายามที่จะเข้าร่วมวงเป็นสมาชิกถาวร อาทิ ญี่ปุ่น, เยอรมัน หรือแม้แต่ อินเดีย, บราซิล และแอฟริกาใต้ แต่จนถึงตอนนี้องค์การสหประชาชาติก็ยังไม่มีแนวคิดที่จะขยายจำนวนสมาชิกถาวรแต่อย่างใด

และด้วยสิทธิ์ที่มีเฉพาะกลุ่มประเทศถาวร 5 ประเทศนี้ อย่างการ Veto ที่สามารถระงับมติร่วมของ UN ได้ทันที โดยตั้งแต่ปี 1946 เป็นต้นมามีการใช้สิทธิ์ Veto ไปแล้วถึง 295 ครั้งนั้น พบว่า รัสเซีย เป็นประเทศที่ใช้สิทธิ์ Veto มากที่สุดถึง 143 ครั้ง รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 86 ครั้ง อังกฤษ 30 ครั้ง ส่วนจีน และ ฝรั่งเศสเคยใช้สิทธิ์ไป 18 ครั้ง

แต่ถ้าหากหนึ่งในประเทศสมาชิกถาวรเป็นศูนย์กลางของประเด็นความขัดแย้ง อย่างกรณีการใช้กำลังทหารของรัสเซียในยูเครน การลงมติร่วมในการตอบโต้ หรือแสดงความไม่เห็นด้วยของกลุ่มประเทศอื่นๆ ก็ทำได้ยาก อย่างการลงมติเพื่อจัดตั้งกองกำลังสหประชาชาติ เพื่อเข้าแทรกแซงในข้อพิพาทยูเครน หรือการลงมติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศผู้รุกราน ทางฝ่ายรัสเซียสามารถใช้สิทธิ์ Veto ตีทุกมติตกได้

แม้จะมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรค 3 ที่ระบุว่าประเทศสมาชิกถาวรที่เป็นคู่ขัดแย้งจะไม่มีอำนาจในการใช้สิทธิ์ Veto มติของสภาความมั่นคงทั้ง 15 ชาติ แต่หัวข้อนี้มักถูกละเลยเนื่องจากประเทศถาวรต้องการรักษาอำนาจในการ Veto ของตนไว้หากจำเป็นต้องใช้ในอนาคต

นั่นจึงเป็นที่มาของการยื่นร่างข้อตกลงจาก ประเทศลิกเตนสไตน์ ถึงที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ โดยมีประเทศที่สนับสนุนอีก 50 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย ที่ต้องการให้ยึดหลักการในมาตรา 27 ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้มีการจำกัดสิทธิ์การยื่น Veto ของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาแล้ว อีก 4 ชาติสมาชิกถาวรที่เหลือ ยังไม่มีความเห็นในประเด็นดังกล่าว!!

ด้าน ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวสนับสนุนการเคลื่อนไหวของลิกเตนสไตน์ ว่า “พวกเราทุกคนล้วนรู้สึกละอายในการใช้อภิสิทธิ์ในการ Veto ของรัสเซียมาตลอด 20 ปี ซึ่งการยื่นคำร้องของลิกเตนสไตน์ จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานของการตรวจสอบ ความโปร่งใส และความรับผิดชอบของประเทศสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคงทั้งหมด”

นอกเหนือจากลิกเตนสไตน์แล้ว ทางด้าน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน ก็เคยกล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กลางที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ขับรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกของสภาความมั่นคง หรือตัดสิทธิ์การออกเสียงมาแล้วเช่นกัน


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: CNA / ABC / Foreign Policy News