3 ฤดูในเดือนเดียว เมษายน 65 เดือนที่มีทั้ง 3 ฤดูในเมืองไทย

ในต้นเดือนเมษายน 2565 ปีนี้ นอกจากประเทศไทยจะเจอสถานการณ์โควิดที่ยังมองไม่เห็นทางสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าสถานการณ์จะเริ่มผ่อนคลายลงไปเมื่อไร เนื่องจากยอดของผู้ติดเชื้อที่อยู่ในหลักวันละสองหมื่นกว่าคนขึ้นไปทุกวัน แต่ในช่วงนี้มีสิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อว่าทำให้หลายๆ คนแปลกใจ โดยเฉพาะคนที่อยู่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง 

นั่นก็เพราะจู่ๆ ในช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงวันหยุดดยาวแห่งเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย และเป็นเดือนที่ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนมากที่สุด กลับกลายเป็นว่ามีบางช่วงโดยเฉพาะช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีพายุฝนฟ้าคะนองและลมแรง หลังจากนั้นอากาศเย็นลงทันทีทันใดจนต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ทำให้เรารู้สึกได้ว่าเหมือนกับอยู่ในหน้าหนาวเลยกันเลย กลายเป็นว่ามี 3 ฤดูกาล เกิดขึ้นภายใน 1 เดือน ทั้งร้อน หนาว และฝน เลยทีเดียว นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนักในประเทศไทย 

สำหรับวันนี้จะมาพูดถึงลักษณะของอากาศที่ทำให้ช่วงหน้าร้อนที่สุดของประเทศไทยกลายเป็น 3 ฤดูกาลภายในเดือนเมษายนนี้กันครับ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักลักษณะฤดูกาลของประเทศไทยกันก่อนครับ 

ทั้งนี้ประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรระหว่างละติจูดที่ 5-20 องศาเหนือ และลองจิจูดที่ 97-105 องศาตะวันออก ทำให้ภูมิอากาศของประเทศเรามีลักษณะเป็นแบบทุ่งหญ้าสะวันนา หรือภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแห้งแล้ง โดยภูมิอากาศแบบนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีจะสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส และมีลักษณะที่สำคัญ คือ มีฤดูแล้งสลับฤดูฝนให้เห็นชัดเจน ขณะที่ฝนส่วนใหญ่ตกในฤดูร้อน ในฤดูหนาวอากาศจะแห้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย 

ในขณะที่บางส่วนของประเทศไทย คือ ภาคใต้และทางตะวันออกสุดของภาคตะวันออก เป็นลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ทำให้มีฝนตกมากกว่าภาคอื่น และไม่ค่อยได้สัมผัสกับอากาศหนาวมากเหมือนกับภาคอื่น 

สำหรับฤดูในประเทศไทยนั้นแบ่ง เป็น 3 ฤดู ได้แก่…

ฤดูฝน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยประกอบกับร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนชุกทั่วไป 

ฤดูหนาว เริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากแถบประเทศจีนปกคลุมประเทศไทย 

และ ฤดูร้อนที่จะเริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมที่พัดผ่านประเทศไทยเปลี่ยนจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเป็นช่วงเวลาที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยมีดวงอาทิตย์อยู่เกือบตรงหัวในเวลาเที่ยงวันพอดี ทำให้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงนี้ ลักษณะสภาวะอากาศจึงร้อนอบอ้าว

ในช่วงหน้าร้อนเดือนเมษายนปีนี้ มีลักษณะพิเศษ คือ เนื่องจากอิทธิพลความกดอากาศต่ำหรือมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับมีลมที่พัดมาจากทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ที่นำความชื้นจากมหาสมุทรมาด้วย ทำให้อากาศช่วงนี้ร้อนชื้นหรือที่เรามักเรียกกันว่าอบอ้าว ในขณะเดียวกันก็มีหย่อมความกดอากาศสูงกำลังแรง หรือมวลอากาศเย็นจากจีนก็แผ่ลงมาพอดี 

เมื่ออากาศเย็นมาเจอกับอากาศร้อนชื้นส่งผลทำให้เกิดพายุฤดูร้อน โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับว่าในช่วงนั้นอากาศร้อนมากขนาดไหน และมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาจะเย็นขนาดไหน ถ้าร้อนมากกับเย็นมากมาเจอกันก็จะเกิดลมที่แรงคู่กับฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก 

ปีนี้มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาบ่อยส่งผลให้ฝนตกดีในหน้าแล้ง โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยกำลังร้อนมาก เมื่อมวลอากาศเย็นที่มีอุณหภูมิค่อนข้างจะต่ำมากแผ่ลงมา ส่งผลทำให้ช่วงแรกจะเกิดพายุฤดูร้อนลมแรงและฝนฟ้าคะนอง และหลังจากนั้นอากาศก็จะเย็นลงอย่างรวดเร็ว ดังปรากฏการณ์ที่เราได้เห็นกันในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมากัน กลายเป็นว่ามีทั้ง 3 ฤดูกาลในเดือนเดียวกันคือทั้งร้อน หนาว และฝน

นับว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของประเทศไทยที่มีภูมิประเทศที่เหมาะสม ทำให้ช่วงหน้าแล้งก็ยังมีฝน ในขณะเดียวกันก็ยังได้รับลมเย็นสบายๆ กัน ไม่แน่ครับ เนื่องจากลักษณะของอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่เคยมาเจอมากก่อน ในอีกไม่นานเราก็อาจจะได้เห็นหิมะตกในช่วงหน้าหนาวของประเทศไทยก็เป็นไปได้ครับ


👍 ติดตามผลงาน ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ผศ.ดร.สุทัศน์%20จันบัวลา