'จรจัดสรร' ที่พักพิง 'สุนัขจรจัด' จากสถาปัตยกรรมขนาดเล็กพับเก็บได้ เซฟน้องหมา-สร้างจุดสังเกตแก่คนกลัวให้เดินเลี่ยง

ไวรัล! ที่พักพิง "จรจัดสรร" อีกทางเลือกแก้ปัญหาหมาจรจัด ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก บังแดด-กันฝนให้หมาจรจัด แลนด์มาร์กให้อาหารเป็นหลักแหล่ง และเป็นจุดสังเกตให้คนกลัวหมา หวังลดความขัดแย้งในชุมชน

หมาจรจัดเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน โดยเฉพาะความขัดแย้งในชุมชนระหว่างคนกับหมา ทั้งเรื่องความสกปรกจากการกินและคุ้ยอาหาร หรือความปลอดภัยจากการถูกกัด หรือวิ่งตัดหน้ารถ ซึ่งที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการรณรงค์จากทั้งหน่วยงานรัฐและ NGO ให้แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง อย่างขอให้แต่ละคนประเมินความพร้อมก่อนตัดสินใจเลี้ยง หรือขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง แต่สุดท้ายจำนวนหมาจรจัดก็ยังไม่ได้หมดไป

กลุ่มจิตอาสาคนรักหมาแต่ละกลุ่ม ก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหาและลดความขัดแย้งเท่าที่จะทำได้ ทั้งการจัดโครงการสุนัขชุมชนในแต่ละพื้นที่ หรือการสนับสนุนศูนย์พักพิงหมาจรจัดต่าง ๆ

ล่าสุด ในสื่อสังคมออนไลน์ มีการส่งต่อโพสต์ไวรัลเกี่ยวกับอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหมาจรจัดอย่าง "ที่พักพิง" โครงการจรจัดสรรเป็นงานวิจัยระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบเชิงวัฒนธรรม คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ริเริ่มโครงการจากความเป็นคนรักหมา จึงต้องการดูแลสวัสดิภาพหมาให้ดีขึ้น

"อาจารย์ยศพร จันทองจีน" เจ้าของโครงการ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า ที่พักพิงโครงการจรจัดสรร เป็นการสร้างสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก ใช้อุปกรณ์เพียงแค่เหล็กและไวนิลซึ่งได้รับบริจาคจากโรงพิมพ์ แต่ช่วงนี้เหล็กราคาแพง ทำให้ราคา 1 ชุด อยู่ที่ 1,500 - 2,000 บาท โดยจรจัดสรรจะเลือกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากชุมชน และไม่เกะกะขวางทาง มีอาสาสมัครคอยดูแลความเรียบร้อยและความสะอาด เพื่อเป็นการจัดการหมาจรจัดในชุมชนอย่างเป็นระบบ

“จุดประสงค์แรกเราคือ อยากหาที่บังฝนและบังแดดให้หมาจรจัดที่เขาไม่มีบ้านอยู่ เพื่อให้สวัสดิภาพชีวิตของเขาดีขึ้น”

เบื้องต้น นำร่องทำความร่วมมือกับจิตอาสากลุ่มสุนัขชุมชนเมืองทอง โดยติดตั้งที่พักพิงไปแล้ว 10 ชุด บริเวณข้างมหาวิทยาลัยศิลปากร 2 ชุด ข้างลานจอดรถอิมแพ็กอารีนา 5 ชุด และบริเวณปั๊มน้ำเมืองทอง อีก 3 ชุด ซึ่งคนในพื้นที่แจ้งว่า มีหมาเข้าไปพักเพื่อบังแดดอยู่บ้าง และเมื่อมีอาสาสมัครนำข้าวไปวางไว้ ก็มีหมาเข้าไปกินอาหารด้านในด้วย

“ที่พักพิงนี้เป็นจุดให้จิตอาสานำอาหารมาให้หมาได้แบบไม่เกะกะหรือรบกวนคนทั่วไป และเป็นสถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่พับเก็บได้ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งของคนในชุมชน และเป็นจุดสังเกตสำหรับคนที่กลัวหมาให้เดินเลี่ยงได้”

หลังเปิดเผยภาพไปจนกลายเป็นไวรัล อาจารย์ยศพร ยอมรับว่า รู้สึกดีใจที่ทำให้ประชาชนในวงกว้างได้ตระหนักถึงปัญหาหมาจรจัดที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และหวังจะให้ทุกคนร่วมแชร์ไอเดียแก้ไขปัญหาผ่านโซเชียล รวมถึงให้หน่วยงานที่ได้มาเห็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหมาจรจัดและลดความขัดแย้งในชุมชนได้

“เราอยากให้เข้าใจว่า การทำโครงการนี้ ไม่ใช่ทำเพื่อให้หมาจรจัดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การสร้างปัญหา แต่เป็นอีกหนึ่งทางแก้ปัญหาสำหรับกลุ่มคนรักหมาที่พอจะทำได้ด้วยกำลังที่มี”

ขณะที่ น.ส.จุฑามาศ ไกรศรี เลขานุการโครงการสุนัขชุมชน ระบุว่า ในพื้นที่เมืองทองธานีกว่า 5,000 ไร่ คาดว่ามีหมาจรจัดไม่ต่ำกว่า 300-400 ตัว ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก ขณะเดียวกันในสังคมไทยมีทั้งคนรักหมา และไม่รักหมา รวมถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้รู้สึกอะไรหากไม่สร้างปัญหาให้ โครงการสุนัขชุมชนจึงต้องการหาทางออกระหว่างคนทั้ง 3 กลุ่มเท่าที่จะทำได้

ทีมงานจึงริเริ่มโครงการสุนัขชุมชนเมืองทองธานี โดยประสานกับกรมปศุสัตว์ และเทศบาลปากเกร็ด เพื่อทำทะเบียนสุนัข พร้อมใส่ "ปลอกคอ" 3 สี ตามโมเดลที่ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งจะมีการทำปลอกคอหมาเพื่อเตือนคนในชุมชนได้ทราบถึงนิสัยของแต่ละตัว ดูแลการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และระดมทุนค่ารักษาพยาบาลเมื่อหมาจรจัดได้รับบาดเจ็บ รวมถึงมีอาสาสมัครดูแล-ให้อาหารหมาจรจัดในพื้นที่อยู่ด้วย

น.ส.จุฑามาศ ระบุอีกว่า หลังจากโครงการจรจัดสรรติดต่อเข้ามา ก็ได้ประสานงานกันและเปิดพื้นที่ให้ทดลองติดตั้งที่พักพิงในพื้นที่ที่ไม่กระทบต่อคนในชุมชน โดยมีจิตอาสาในพื้นที่เข้ามาคอยดูแลความสะอาด และให้อาหารอย่างเป็นหลักแหล่ง ซึ่งมองว่าเป็นการลดความขัดแย้งในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง และเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการแก้ปัญหาในฐานะประชาชนทั่วไป ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะมีการขยายจุดติดตั้งที่พักพิงจรจัดสรรเพิ่ม เพื่อให้หมาจรจัดมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น

โครงการจรจัดสรร อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาหมาจรจัด แต่จากฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมปศุสัตว์ พบข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2562 ประเทศไทยมีสุนัขที่ไม่มีเจ้าของอยู่ 109,123 ตัว ขณะที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2570 ประเทศไทยจะมีสุนัขและแมวจรจัด ประมาณ 1,920,000 ตัว และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมากถึง 5 ล้านตัว ดังนั้น นอกจากการแก้ปัญหาของจิตอาสาแล้ว อาจต้องจับตาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงมาตรการแก้ไขปัญหาจากต้นทาง เพื่อลดจำนวนหมาจรจัดได้อย่างยั่งยืน


ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/314447