'โบว์ ณัฏฐา' ชี้ ในการทำงาน จำเป็นต้องมี Flexibility หรือความยืดหยุ่น เช่นเดียวกับทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

จากกรณีที่นิสิตจากม.ดัง ได้ไปฝึกงานกับโรงแรมแห่งหนึ่ง ก่อนถูกส่งตัวกลับ เพราะก้าวร้าวใส่ผู้บริหาร อีกทั้งทางคณะต้นสังกัดของนิสิตดังกล่าว ดูจะไม่ช่วยอะไรนัก จนอาจทำให้จบไม่ทันเพื่อน และเสียเวลาไปฟรีๆ 1 ปีนั้น ได้ทำให้เกิดการแชร์และถกกันถึงดรามานี้ โดยมีชาวเน็ตแห่มาให้ความเห็นและทำให้เกิดข้อถกเถียง เสียงแตกเป็น 2 ฝั่ง

กรณีดังกล่าว ‘คุณโบว์ - ณัฏฐา มหัทธนา’ ก็ได้ให้ความเห็นผ่านรายการ MEET THE STATES TIMES เดอะ ดีเบต ไว้อย่างน่าสนใจด้วยเช่นกันว่า..

จากการติดตามของโบว์ ในกรณีดังกล่าว ตัวนักศึกษาฝึกงานเองก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าตัวเองไม่ผิดในกรณีนี้ แต่ตำหนิคณะที่ไม่ส่งไปฝึกงานในที่ใหม่ที่เขาหามาเลย เพื่อที่เขาจะได้ฝึกเสร็จทันในปีนี้ เหมือนกับคนอื่นๆ ไม่ต้องรอไปปีการศึกษาหน้า แต่ขณะเดียวกันทางคณะก็มีเหตุผลของไทม์ไลน์ และขั้นตอนการส่งเอกสาร ว่าทำไมถึงทำให้ในเทอมนี้ไม่ได้

แต่ว่าประเด็นที่กลายเป็นที่ถกเถียงพูดคุยกันในสังคม ก็คือคำถามว่า ‘ผิดหรือไม่’ ที่มีการใช้งานที่นอกเหนือ Job Description เราจะต้องยอมทำให้หรือ ถ้าเกิดทำงานนอกเวลาเราต้องยอมรึเปล่า 

ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นขยายไปไม่ได้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเคสดังกล่าวแล้ว แต่เป็นประเด็นที่คนรู้สึกว่า เวลาไปทำงานเราต้องทำตาม Job Description หรือว่าเราต้องยืดหยุ่นไปทำงานนอกเหนือจากนั้น มันเป็นสิทธิของเราหรือไม่ถ้าเราจะปฏิเสธ อันนี้คือข้อถกเถียง 

สำหรับโบว์ คิดว่าคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาเลย อาจจะคิดว่าคนเราไปทำงานอาจต้องทำตาม Job Description เป๊ะๆ แต่คนที่เคยมีประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือเล็ก ก็จะรู้ว่า ‘Flexibility หรือว่าความยืดหยุ่น’ เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ไม่ว่าจะองค์ระดับโลก หรือว่าระดับท้องถิ่นจะกำหนดว่า ‘ต้องมี’

แน่นอนว่าเวลาทำงานจริงจะมีบางอย่างที่เกิดขึ้นและอาจไม่รู้ว่านี่คือ Job Description ของใคร ซึ่งถ้าเรามีความเป็นทีม สิ่งที่เราจะทำก็คือใครเติมได้เติมเลย ช่วยกันเป็นทีมเวิร์กคนที่มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายมาแล้วก็จะรู้ว่า ไม่ว่าคุณจะทำงานองค์กรเลิศหรูขนาดไหน คุณต้องมี Flexibility มีความยืดหยุ่นในการทำงาน

ส่วนในกรณี การสื่อสารและตอบกลับ GM ของโรงแรมด้วยภาษาแบบนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึง การขาดทักษะด้านการสื่อสารในบริบทที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งอันนี้เราอาจต้องโทษระบบการศึกษา เพราะนักศึกษายังไงก็ยังเป็นนักศึกษา ยังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งในการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับ อนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัยนั้น เราได้สอนเด็กหรือเปล่าว่าเวลามีความขัดแย้งเกิดขึ้น วิธีการสื่อสารควรจะเป็นอย่างไร

ถ้าเอาวิธีการสื่อสารนั้นมาวิเคราะห์ เราก็จะเห็นว่าเป็นการสื่อสารที่สร้างความแตกหัก ไม่ใช่การสื่อสารที่สร้างสรรค์ ซึ่งโบว์ไม่แน่ใจว่าเด็กรุ่นนี้เข้าใจความแตกต่างของการสื่อสารแบบ Assertive (ตรงไปตรงมา) กับ Aggressive (ก้าวร้าว) หรือเปล่า  

เพราะ Assertive คือ การพูดตรงประเด็น แต่พูดด้วยการระมัดระวังความรู้สึกซึ่งกันและกันอยู่ ไม่ได้หมายความว่าต้องอ้อมค้อม หรือพูดแบบไม่จริงใจ แต่เป็นการพูดตรงประเด็นแบบไม่โจมตีตัวบุคคล พูดด้วยเหตุและผลหาทางออก คือ พูดตรงแต่ไม่ก้าวร้าว นั่นเอง

ในขณะที่การสื่อสารแบบ Aggressive คือ ก้าวร้าว เหวี่ยง วีน หรือที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า ‘เด็กปากแจ๋ว’ แล้วก็ไปสร้างเป็นค่านิยมใหม่ว่าแบบนี้อาจจะเท่ดี ซึ่งถ้าคุณไปอยู่ในบริบทการทำงาน หากคุณสื่อสารแบบ Aggressive คุณก็จะจบแบบนี้ 

อย่างไรก็ดี คุณโบว์ก็ให้กำลังใจน้องต้นเรื่องว่า การที่สิ่งนี้เกิดขึ้นและอยู่ดีๆ มันก็กระจายสู่โลกโซเชียลมีเดีย และเป็นกระแสใหญ่ขนาดนี้ เราอาจรู้สึกว่าทั้งสังคมกำลังประณามเรา แต่โบว์คิดว่าน้องสามารถสกัดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ได้เอง “เราอาจไม่ได้ผิดทั้งหมด อาจไม่ได้ถูกทั้งหมด แต่เราได้บทเรียนจากเรื่องนี้แน่ๆ ให้กำลังใจค่ะ”