โฆษก ทอ.เผย การจัดหาเครื่องบินขับไล่ ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.พล.อ.ต. ประภาส  สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์การใช้งานเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน เพื่อรองรับภารกิจการบินรบในอากาศ การโจมตีทางอากาศ การปฏิบัติการเชิงรุกที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม และการปฏิบัติการรวมทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันประเทศ และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติกับเหล่าทัพอื่น 

โดยคณะกรรมการศึกษาและจัดทำความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ได้กำหนดแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีเบื้องต้นที่ควรได้รับจากการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ประกอบด้วย

1. มีข้อเสนอให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศไทยในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จำนวนที่เหมาะสม เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญ และส่งเสริมการพัฒนาประเทศในภาพรวม 

2. บุคลากรของกองทัพอากาศควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Offset Scholarship) เพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีขีดความสามารถในการทดสอบการใช้งาน การติดตามผลการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และการรับรองมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีในส่วนของการออกแบบอากาศยานที่สามารถซ่อนพรางจากการตรวจจับด้วยสัญญาณเรดาร์ (Stealth) ทั้งในส่วนการออกแบบอากาศยาน (Aircraft Design) การออกแบบพื้นผิววัสดุของอากาศยาน (Material Design) และการซ่อมบำรุงการซ่อนพราง 

4. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในระบบบัญชาการและควบคุม ในการพิจารณาภัยคุกคาม (Threat Assessment & Analysis) เพื่อให้ระบบบัญชาการและควบคุม มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

5. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านงานส่งกำลังบำรุงแบบบูรณาการในการติดตามระบบส่งกำลังบำรุง ระบบการจัดการ, การซ่อมบำรุงพัสดุ ในแบบ Realtime และสามารถนำมาพิจารณาแนวโน้มความต้องการพัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมบำรุงรักษาได้ 

6. การถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านการบินทดสอบอากาศยานที่ทันสมัย และการบินทดสอบอากาศยานไร้คนขับในลักษณะ Manned-Unmanned Teaming (MUM-T) ให้แก่นักบินของกองทัพอากาศ ซึ่งทำหน้าที่ทดสอบสมรรถนะ หรือการทำงานของอากาศยาน 

7. การถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ในด้านวิเคราะห์และเลือกใช้อาวุธ (Target Weaponeering) 

และ 8. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warfare) รวมถึงการได้รับการเข้าถึงบัญชีความถี่ (EW Library) 

กล่าวได้ว่าการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต โดยคำนึงถึงคุณภาพของกำลังทางอากาศและขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์และรักษาความมั่นคงของชาติ 

“กองทัพอากาศยังคงดำรงเจตนารมณ์เช่นเดิมในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่การดำเนินการที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดทั้งหมดจะอยู่ในขั้นตอนต่อไป ภายหลังจากการเจรจากับประเทศผู้ขาย (ขอเวลาให้ คณะกรรมการฯ ดำเนินการ พิจารณาเลือกแบบเครื่องบินที่เหมาะสม ดำเนินการด้วยความรอบคอบก่อน)”พล.อ.ต.ประภาส กล่าว และว่า 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีตามที่กองทัพอากาศสนใจจะให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น เป็นเทคโนโลยีทางทหารชั้นสูง มีชั้นความลับกำกับ ถือเป็น Military Know how (ที่สร้างความได้เปรียบในการรบสมัยใหม่) จึงต้องถูกควบคุมจากประเทศผู้ผลิตอย่างเคร่งครัดโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศผู้ผลิต

“ขอยืนยันว่ากองทัพอากาศเรามีความชัดเจนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสิ่งที่เราต้องการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากองทัพไทยและประเทศชาติในระยะยาวแน่นอน”โฆษกกองทัพอากาศ กล่าว