‘ธัญวัจน์ ก้าวไกล’ เดินหน้าหารือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ชี้ ไม่สามารถเอาประกบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เหตุคนละความหมาย

ธัญวัจน์ ก้าวไกล เดินหน้าหารือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกับภาครัฐ ย้ำชัดคาดตีกลับเข้าสภา เมษายนนี้ ชี้ชัด สมรสเท่าเทียม ไม่เท่ากับ คู่ชีวิต หลังครม.ถกกว่า 2 เดือนพร้อมเตรียมสอดไส้พรบ.คู่ชีวิต ประกบพิจารณาร่วม 

เมื่อ วันที่ 7 มีนาคม 2565 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ริเริ่มร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ1448 ) #สมรสเท่าเทียม กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติภายหลังจากที่ส่งร่างดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งระยะเวลา 60 วัน ก่อนนำกลับมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรนั้น

ธัญวัจน์ กล่าวว่า ตนได้เข้าประชุมทางออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ พ.ศ. … หรือ #สมรสเท่าเทียม โดยมีกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการสตรี และ สถาบันครอบครัว สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมสวัสดิการ งานเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ กฤษฎีกา ธัญได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมถึงสาระสำคัญ และตอบคำถาม ข้อสงสัยให้กับหน่วยงานต่างๆ 

ในการประชุมครั้งนี้จะมีการสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่การที่คณะรัฐมนตรีจะมีร่างกฎหมายมาประกบเพื่อพิจารณาในกระบวนการรัฐสภา และในขณะประชุมกรมคุ้มครองสิทธิ์ที่ได้มีการร่างพระราชบัญญัติ #คู่ชีวิต ฉบับที่ พ.ศ. ….  ได้ชี้แจงว่าคณะรัฐมนตรีมีมติผ่านร่างแล้ว และอาจจะใช้ร่างดังกล่าวมาพิจารณาร่วม

ธัญวัจน์ ระบุว่า สมรสเท่าเทียม และ คู่ชีวิต ไม่สามารถประกบกันได้ เพราะคำว่าสมรสไม่เท่ากับคำว่าคู่ชีวิต สมรส คือการใช้ชีวิตคู่สมรสที่มีสิทธิ์ ศักดิ์ศรี และ สวัสดิการ เท่าเทียมทุกเพศ ภาษาอังกฤษ คือ Marriage ส่วน คู่ชีวิต คือนิยามการใช้ชีวิตคู่ที่อาจมีความสัมพันธ์ไม่นิยามแค่ความรักโรแมนติก ภาษาอังกฤษ คือ Civil Partnership และ สุดท้าย แต่งงาน คืองานที่ประกอบต่างความเชื่อหรือประเพณี หรือพิธีกรรมทางศาสนา ภาษาอังกฤษ คือ Wedding เป็นคนละเรื่องกันมิใช่เรื่องเดียวกัน และร่างสมรสเท่าเทียมการคือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ไม่ใช่การยกร่างพระราชบัญญัติ

“คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียม เป็นคนละเรื่องกันหากทางคณะรัฐมนตรีต้องมีร่างประกบเพื่อการพิจารณาก็ควรต้องใช้หลักการการสมรส ซึ่งก็อาจจะแตกต่างในรายละเอียดแต่ต้องเป็นหลักการเดียวกัน และแยกวาระการพิจารณา และการที่คณะรัฐมนตรีมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ก็ไม่ได้หมายความว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติผ่านหลักการสมรสเท่าเทียมไม่ได้ และหากคณะรัฐมนตรีมีมติไม่ผ่านร่างสมรสเท่าเทียม ก็เป็นสิ่งที่ต้องอธิบายต่อสังคมว่าเหตุใดจึงให้สิทธิที่เสมอภาคต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้” ธัญวัจน์ กล่าว 

ธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการประชุมวันนี้ทางกฤษฎีกาจะนำการพูดคุย การอภิปรายความคิดเห็น และข้อเสนอแนะไปสรุปเป็นประเด็นสำคัญเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป