Chechen VS Chechen เปิดสมรภูมิรบ Ukraine แต่นักรบ Chechen ต้องมารบราฆ่าฟันกันเอง

สำหรับวันนี้อยากชวนทุกท่านไปรู้จักเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับกระแสโลกอย่างสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ กัน 

ธงของสาธารณรัฐเชเชนในปัจจุบัน

เรื่องของชาว Chechen ซึ่งเป็นประชากรของสาธารณรัฐเชเชน (Chechen Republic) หรือ เชชเนีย (Chechnya) ซึ่งเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของประเทศรัสเซีย 

เชชเนีย ตั้งอยู่ในเขตคอเคซัสเหนือ อันเป็นส่วนใต้สุดของยุโรปตะวันออก และอยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรจากทะเลแคสเปียน มีเมืองหลวงคือ กรุงกรอซนีย์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 ระบุว่า มีประชากรชาวเชชเนียราว 1,268,989 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย บริเวณเทือกเขาคอเคซัส มีอาณาเขตติดต่อกับจอร์เจีย 

ธงของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตัวเองเชเชน-อินกุช (Chechen-Ingush ASSR)

ภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายใน พ.ศ. 2534 ขบวนการชาตินิยมกลุ่มมุสลิมหัวใหม่ในรัสเซียต้องการที่จะผนวกดินแดน 4 สาธารณรัฐคือ สาธารณรัฐอิงกูเชเตีย, คาร์บาดีโน-บัลคาเรีย, ดาเกสถาน และนอร์ทออสซีเชีย เข้าด้วยกัน เรียกว่า "สหพันธรัฐอิสลามคาลีฟัด (Islamic Caliphate)" ภายใต้การสนับสนุนจากประเทศในตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตัวเองเชเชน-อินกุช (Chechen-Ingush ASSR) แบ่งออกเป็นสองสาธารณรัฐ คือ สาธารณรัฐอินกูเชเตียและสาธารณรัฐเชเชน 

ธงของสาธารณรัฐอินกูเชเตียเชเชน

สาธารณรัฐเชเชนได้รับการประกาศเป็นสาธารณรัฐอินกูเชเตียเชเชน ซึ่งต้องการเป็นเอกราช หลังสงครามเชเชนครั้งที่หนึ่งกับรัสเซีย เชชเนียได้รับเอกราชโดยพฤตินัยเป็นสาธารณรัฐอินกูเชเตียเชเชน ระบอบการควบคุมจากส่วนกลางของรัสเซียได้รับการฟื้นฟูระหว่างสงครามเชเชนครั้งที่สอง ปัจจุบันยังมีการสู้รบประปรายไปในเขตภูเขาและทางใต้ของเชชเนีย

นายพลโซคคาร์ ดูดาเยฟ (ประธานาธิบดีเชชเนียคนแรก ผู้ซึ่งประกาศให้สาธารณรัฐเชชเนียเป็นเอกราช)

ปัญหาของเชชเนียเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2535 เมื่อนายพลโซคคาร์ ดูดาเยฟ ประธานาธิบดีเชชเนีย ประกาศให้สาธารณรัฐเป็นเอกราช แต่รัสเซียยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้ดินแดนในปกครองเป็นอิสระ ด้วยเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอีกด้วย จึงได้มีการส่งทหารจำนวน 40,000 นาย เข้าไปยังเชชเนีย เพื่อปราบปรามการแบ่งแยกดินแดน ทำให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อเป็นเวลาเกือบ 2 ปี (พ.ศ. 2537-2539) แต่ได้สิ้นสุดลง เมื่อรัสเซียตกลงให้สิทธิปกครองตนเองชั่วคราวแก่กลุ่มกบฏ และยอมถอนทหารออกจากเชชเนียทั้งหมด และสนับสนุนให้ อัสลาน มาสคาดอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเชชเนียในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 สืบแทนประธานาธิบดีดูคาเยฟที่เสียชีวิตไปในช่วงสงคราม 

อัสลาน มาสคาดอฟ อดีตประธานาธิบดีเชชเนีย ผู้ซึ่งถูกหน่วย FSB สังหาร

ต่อมาอำนาจของประธานาธิบดีมาสคาดอฟได้ลดลงเป็นลำดับ เนื่องจากอดีตหัวหน้ากลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ซึ่งกระจายอยู่ตามดินแดนส่วนต่างๆ ของเชชเนีย เริ่มตั้งตนขึ้นมามีอำนาจอย่างเป็นเอกเทศ และจากการที่ประธานาธิบดีมาสคาดอฟ ได้ดำเนินนโยบายแยกตัวเป็นเอกราชจากรัสเซียในภายหลัง ทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องการจับกุมตัวประธานาธิบดีมาสคาดอฟ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ขณะที่สุดท้ายประธานาธิบดีมาสคาดอฟ เสียชีวิตด้วยฝีมือของหน่วย FSB ขณะเข้าทำการจับกุมเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548

นายพลชามิล บาซาเยฟ (อดีตหัวหน้ากลุ่มกบฏเชชเนีย)

อย่างไรก็ตาม สงครามเชชเนียครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2542) ก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อนายพลชามิล บาซาเยฟ หัวหน้ากลุ่มกบฏเชชเนีย ซึ่งมีอำนาจมากที่สุด นำกำลังเข้ายึดสาธารณรัฐดาเกสถานทางตะวันออกของเชชเนีย พร้อมประกาศจะปลดปล่อยดินแดนทางตอนเหนือของเทือกเขาคอเคซัสออกจากรัสเซีย และเปลี่ยนให้เป็นรัฐอิสลามทั้งหมด ทำให้รัสเซียต้องส่งทหารเข้าโจมตีที่ตั้งของนายพลบาซาเยฟในเชชเนียตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 โดยสามารถยึดพื้นที่ไว้ได้ทั้งหมด รวมทั้งกรุงกรอซนีย์เมืองหลวงของเชชเนีย เหลือแต่เพียงบริเวณเทือกเขาตามแนวชายแดนเท่านั้น ที่มักเกิดการสู้รบกับกลุ่มกบฏในลักษณะการซุ่มโจมตี และต่อมา อัคมัด คาดีรอฟ ซึ่งย้ายข้างมาสนับสนุนรัสเซียได้ขึ้นเป็นผู้นำเชชเนีย และถูกลอบสังหารเมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 และปัจจุบัน รัมซาม คาดีรอฟ บุตรชายของ อัคมัด คาดีรอฟ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐเชเชน ภายใต้สหพันธรัฐรัสเซียซึ่งมี ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นผู้นำ

อดีตประธานาธิบดีอัคมัด คาดีรอฟ ผู้แปรพักตร์มาสวามิภักดิ์รัสเซีย

ปัญหาการก่อการร้ายในสาธารณรัฐเชเชน สร้างความชอบธรรมให้กับประธานาธิบดีปูตินในการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นการรวมศูนย์อำนาจ โดยเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน เป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนทั้งหมด พร้อมกับเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งผู้ปกครองสาธารณรัฐและเขตปกครองตนเองทั้ง 89 แห่ง เป็นการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติท้องถิ่นแทน ซึ่งวิธีการดังกล่าวถูกชาติตะวันตกโจมตีอย่างหนักว่า ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยในรัสเซียไม่คืบหน้า

รัมซาม คาดีรอฟ (นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐเชเชน ภายใต้สหพันธรัฐรัสเซีย)

รัมซาม คาดีรอฟ ถือเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูติน จึงจัดกองกำลังนักรบ Chechen สนับสนุนกองทัพรัสเซียในการบุกยูเครนครั้งนี้ด้วย 

โดย รัมซาน คาดีรอฟ ผู้นำของภูมิภาคเชชเนียของรัสเซีย และพันธมิตรของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย กล่าวว่า นักรบเชเชนถูกส่งไปประจำการในยูเครน และเขาเรียกร้องให้ชาวยูเครนโค่นล้มรัฐบาลของพวกเขา ในวิดีโอที่โพสต์ออนไลน์เมื่อวันเสาร์ (26 ก.พ. 65) โดยคาดีรอฟอ้างว่า หน่วยรบชาว Chechen ยังไม่ได้รับความเสียหายใดๆ และกล่าวว่ากองกำลังของรัสเซียสามารถเข้ายึดเมืองใหญ่ของยูเครน รวมทั้งกรุงเคียฟเมืองหลวงได้อย่างง่ายดาย แต่หน้าที่ของพวกเขา คือ พยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิต

กองกำลังนักรบ Chechen ซึ่งทำการรบในยูเครนเพื่อสนับสนุนกองทัพรัสเซีย

“ณ วันนี้ ณ นาทีนี้ เราไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว ไม่มีชายแม้แต่คนเดียวที่มีอาการหวัด น้ำมูกไหล” คาดีรอฟ กล่าว โดยปฏิเสธว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นรายงานเท็จเกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายจากแหล่งข่าวของยูเครน เขาได้กล่าวอีกว่า “ประธานาธิบดี (ปูติน) ตัดสินใจถูกต้องแล้ว และไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามเราจะปฏิบัติการตามคำสั่งของเขา (ปูติน)” 

ทั้งนี้ คาดีรอฟมักอธิบายตัวเองว่าเป็น "ทหารราบ" ของปูติน และเคยส่งกองกำลัง Chechen ไปต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารของเครมลินมาก่อน ทั้งในซีเรีย รวมถึงจอร์เจีย และคำพูดของเขาครั้งล่าสุด ก็พยายามสะท้อนถึงคำพูดของผู้นำรัสเซียที่เรียกร้องให้ชาวยูเครนลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลของตนเองเมื่อวันศุกร์ (25 ก.พ. 65) ซึ่งเขากล่าวว่า รัฐบาลยูเครนเต็มไปด้วยพวก "นีโอนาซี" แต่ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ยูเครนก็ตอบโต้ว่า “เป็นเรื่องที่ไร้สาระ” 

นักสู้รบ Chechen รวมพลก่อนเข้าสู่สมรภูมิ

ทั้งนี้ ช่องข่าว RT ของรัสเซีย ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอสั้นของ คาดีรอฟ ในขณะที่กองกำลังรัสเซียถล่มยูเครนด้วยปืนใหญ่และขีปนาวุธในวันเสาร์เป็นวันที่สามติดต่อกัน โดยมีประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้ท้าทายรัสเซียกล่าวว่า ยูเครนยังคงปกป้องกรุงเคียฟเมืองหลวงเอาไว้ได้ โดยคลิปสั้นดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ ที่แทรกให้เห็นภาพว่า นักรบชาว Chechen หลายพันคนรวมตัวกันที่จัตุรัสหลักของกรุงกรอซนีย์ เมืองหลวงของภูมิภาค เพื่อแสดงความพร้อมที่จะต่อสู้ในยูเครน แต่ไม่แน่ชัดในทันทีว่า นักรบเหล่านั้นซึ่งมีจำนวนประมาณ 12,000 ตามรายงานของ RT ได้ถูกส่งไปยังยูเครนแล้วหรือยัง จะทราบก็เพียงแค่ พวกเขากำลังรอคำสั่งจากประธานาธิบดีปูตินให้เข้าไปในยูเครนเท่านั้น

นักสู้รบ Chechen หลายร้อยนายสวดมนต์ในป่าก่อนการรบ

อย่างไรก็ตาม ก็ได้ปรากฏภาพนักรบ Chechen หลายร้อยคนที่สวดมนต์ในป่าก่อนการรบ พร้อมทั้งกองกำลังพิเศษเชเชนหลายสิบนาย มอบไพ่พร้อมชื่อและรูปถ่ายของเป้าหมายที่ถูกกำหนด โดยมีคาดีรอฟผู้นำของเชชเนียให้คำมั่นสัญญาว่าจะยึดกรุงเคียฟให้ได้ 

แน่นอนว่า ภาพเหล่านี้ถูกออกอากาศทางช่องโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย โดยใช้ประโยชน์จากการปรากฏตัวของนักรบ Chechen ในยูเครนในฐานะอาวุธทางจิตวิทยาในการสู้รบกับยูเครน การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลรัสเซียและเครือข่ายช่องทางโทรทัศน์ที่สนับสนุนเครมลิน ซึ่งเคยใช้ในสงครามข้อมูล โดยอ้างว่า มีนักรบ Chechen จำนวนมาก 10,000 ถึง 70,000 คน ที่คาดีรอฟระบุว่าเป็น "อาสาสมัคร" ออกเดินทางไปยูเครนเพื่อหนุนกำลังหลักของรัสเซีย

ธงของสาธารณรัฐอินกูเชเตียเชเชน (ซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกองพันโดซคาร์ ดูดาเยฟ)

เรื่องของการ ‘มีชอบ ย่อมมีชัง’ อันเป็นที่มาของบทความนี้ เพราะสุดท้ายแล้วนักรบชาว Chechen คงจะต้องมาฆ่าฟันกันเองในสงครามครั้งนี้ เพราะนาทีนี้มีทั้งฟากกองกำลัง Chechen สนับสนุนรัสเซีย และฟากฝั่งตรงกันข้ามคือ กองกำลัง Chechen ที่ต่อต้านรัสเซีย โดย “กองพันโซคคาร์ ดูดาเยฟ (Dzhokhar Dudayev Battalion)” ซึ่งเป็นกองกำลังอาสาสมัคร Chechen ตั้งชื่อตาม “โซคคาร์ ดูดาเยฟ” ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเชเชนแห่งอิชเคเรีย นั้น ประกอบไปด้วยอาสาสมัครชาวเชเชนเป็นส่วนใหญ่ หลายคนผ่านการสู้รบในสงครามเชเชนครั้งที่หนึ่งและสงครามเชเชนครั้งที่สอง

อิซา มูนาเยฟ (ผู้ก่อตั้งและผู้นำคนแรกของ Dzhokhar Dudayev Battalion)

กองกำลังของกองพันโซคคาร์ ดูดาเยฟ เริ่มขึ้นในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ในเดนมาร์กอันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาว Chechen จำนวนมาก ซึ่งต่อต้านรัสเซียและถูกบังคับให้อพยพหลังจากสงครามรัสเซีย-เชเชนครั้งที่สอง ด้วยการริเริ่มของ องค์การคอเคซัสเสรี (Free Caucasus Organisation) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2549 ในเดนมาร์กโดยผู้อพยพทางการเมืองจากกลุ่มประเทศคอเคซัสในยุโรป มี อิซา มูนาเยฟ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้นำคนแรกของกองกำลัง ซึ่งมูนาเยฟ เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารที่ดูแลการป้องกันเมืองหลวงเชชเนียโดยประธานาธิบดี อัสลาน มาสคาดอฟ สาธารณรัฐอิชเคเรียเชเชน ระหว่างยุทธการที่กรุงกรอซนีย์ (พ.ศ. 2542-2543) ซึ่งใช้ยุทธวิธีทำสงครามในเมืองแบบต่างๆ รวมถึงการซุ่มโจมตี คาร์บอมบ์ และทุ่นระเบิดระหว่างการป้องกัน และพันเอกอิซา ซาดิกอฟเป็นเสนาธิการของกองกำลัง นักรบบางคนในกองกำลังได้รับคัดเลือกเนื่องจากสนใจในการสู้รบในซีเรีย แต่ต่อมาถูกโน้มน้าวให้ไปยูเครนแทน

อดัม ออสมาเยฟ (ผู้นำคนปัจจุบันของ Dzhokhar Dudayev Battalion)

ฉะนั้นความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซียในยูเครน จึงถูกเปิดเผยโดยอาสาสมัคร Chechen มากกว่า 300 คนในทันที โดยเหล่านี้เป็นกองกำลังที่ประกอบด้วยชาวเชเชน, จอร์เจีย, อินกุช, อาเซอร์ไบจาน, ยูเครน, เซอร์คาเซียน และอาสาสมัครจากประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมถึงผู้เชี่ยวชาญชาวเชเชนมีส่วนร่วมในการสู้รบทางตะวันออกของยูเครน และทำงานเป็นครูฝึกผู้นำหน่วยขนาดเล็ก ปัจจุบันกองกำลังนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ อดัม ออสมาเยฟ ชาว Chechen ซึ่งจบการศึกษาจากอังกฤษ เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 หลังจากที่มูนาเยฟเสียชีวิตในปฏิบัติการที่ยุทธการเดบัลเซฟในยูเครนตะวันออก

และนี่คือสมรภูมิรบใน Ukraine ที่อาจจะมีข่าวของชาว Chechen ปะทะกับชาว Chechen ต้องมาฆ่าฟันกันเองเพื่อคนอื่น...