“ประวิตร” เร่ง แก้ปัญหาจราจรทั้งระบบ เชื่อมต่อ “ล้อ ราง เรือ” เพิ่มขนส่งทางน้ำ ให้คนริมคลอง สัญจรสะดวก

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.)ครั้งที่1/2565 

โดยที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ รายงานความคืบหน้าการศึกษา แก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษ ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ได้ศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในภาพรวมทั้งระบบ แบ่งเป็น แผนการแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน 21 โครงการ และโครงการทางพิเศษเพิ่มเติมอีก 11 โครงการ ซึ่ง กทพ.ได้จัดทำแผนปฎิบัติการ เรียบร้อยและเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป 

นอกจากนี้ เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินทาง ทางน้ำในเขตกทม.ปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทาง เพิ่มการบริการขนส่งในแม่น้ำลำคลอง และลดปริมาณการจราจรบนถนน ซึ่งมีคลองที่มีศักยภาพในการเดินเรือ เบื้องต้น12 คลอง ที่จะมุ่งเน้นให้พัฒนาการเดินทาง ทางน้ำ เพื่อเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นได้ โดยสนข.จะผลักดันเข้าสู่การปฏิบัติในแผนระดับที่ 3 ต่อไป

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการที่สำคัญ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน เช่น โครงการ ขอนแก่น สมาร์ท ซิตี้ มีการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ และโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขต จ.ขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ,การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต (ระยะที่1) ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติ ภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ,แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่ม จ.ฉะเชิงเทรา ,ชลบุรี ,ระยอง เพื่อรองรับ EEC และการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ซึ่งดำเนินการแล้ว10 เส้นทาง

และรับทราบความคืบหน้าระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง(สถานีรังสิต) และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีด้านการจราจรและขนส่ง เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเขตกทม./ปริมณฑล โดย พล.อ.ประวิตร ได้มอบ กทม.,กรมทางหลวง,กรมทางหลวงชนบท,การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมการขนส่งทางบก เชื่อมต่อข้อมูลจากกล้อง CCTV และ GPS ในพื้นที่ กทม.ปริมณฑลให้กับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เพื่อดำเนินการศึกษาและรายงานผลให้ คจร. ทราบ ต่อไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ให้กทม.และจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานพัฒนาระบบคมนาคม ให้แก้ปัญหาการขนส่ง การจราจรทางบก-ทางน้ำ ให้สำเร็จตามแผนงาน ตรงกับความต้องการของประชาชนให้เป็นรูปธรรม สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้า การลงทุน ครอบคลุมทุกพื้นที่และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศอย่างทั่วถึง