“สุรเชษฐ์” ชี้ M-Flow ดี แต่ออกแบบไม่ดี แนะ ดึงฐานผู้ใช้ M-Pass-Easy Pass มาร่วมระบบ แก้รถติดหน้าด่าน อัด ค่าปรับ 10 เท่าโหด ควรใช้กับผู้จงใจฝ่าฝืนเท่านั้น 

ที่รัฐสภา นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นปัญหาเรื่อง M-Flow ระบบผ่านทางอัตโนมัติ ว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่า M-Flow มีปัญหา ทั้งรถติดมากขึ้น ระบบค่าปรับมึนงง ต้องเสียค่าปรับแพงสิบเท่า ฉะนั้น เวลาที่เราดำเนินการนโยบายที่มีผลกระทบกับประชาชนจะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น อาจจะทดสอบ 1 ด่านก่อนว่าแบบไหนดี ขณะเดียวกันในเชิงระบบก็สามารถแก้ปัญหาได้ ในเชิงสื่อสารประชาชนก็สามารถรับรู้รับทราบด้วยรูปแบบการใช้งานจริง

ประเด็นสำคัญที่ตนคิดว่าเป็นการออกแบบที่ไม่ดี คือ M-Flow เป็นเทคโนโลยีใหม่ยังไม่มีฐานผู้ใช้ การออกแบบที่ดีจะต้องคิดว่าฐานผู้ใช้ปัจจุบันคืออะไร นั่นคือ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ใช้เงินสด และ 2.กลุ่มผู้ใช้ระบบอัตโนมัติเอ็มพาสและอีซีพาส ฉะนั้น การออกแบบเทคโนโลยีจะต้องดึงฐานผู้ใช้เอ็มพาสกับอีซีพาสมาใช้ระบบ M-Flow กล่าวคือกลุ่มผู้ใช้เอ็มพาส อีซีพาส และผู้ลงทะเบียนใหม่ M-Flow ควรจะได้ใช้สิทธิระบบอัตโนมัติ แต่การแบ่งแยก M-Flow ออกมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดหน้าด่าน 

เมื่อถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่าตัวระบบอาจจะดี แต่รัฐมนตรีหรือการบริหารจัดการอาจจะไม่ดี นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ระบบนี้ดี เพราะเมื่อพูดถึงช่องเงินสดจะมีความสามารถในการไหลผ่าน เพราะคนต้องชะลอเพื่อจ่ายเงินอยู่ที่ประมาณ 350-450 คันต่อชั่วโมงต่อช่อง แต่ถ้าเป็นระบบอีซีพาสหรือเอ็มพาสจะเพิ่มความสามารถในการไหลผ่านในระบบประมาณ 3 เท่า แต่ถ้าเป็น M-Flow รถสามารถวิ่งผ่านได้เลยก็จะสามารถเพิ่มความสามารถในการไหลผ่านอยู่ที่ประมาณ 2,000-2,200 คันต่อชั่วโมงต่อช่องจราจร

ดังนั้น ในเชิงระบบดีแน่นอน สมควรทำ แต่จะทำอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ ที่ตนบอกว่ารัฐมนตรีห่วยเพราะไม่ได้ถูกวางแผนมาให้ดี ทุกครั้งเร่งทำแต่ไม่ได้ใส่ใจรายละเอียด เรื่องกลุ่มผู้ใช้สำคัญมาก ตกลงเราจะแบ่งเป็นสามกลุ่มจริงหรือ เพราะจะมีปัญหาแน่นอน ในเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน รัฐมนตรีอยากได้สามกลุ่มแต่ทางเทคนิคบอกว่าสองกลุ่ม ก็ควรนำมาทดลองว่าแบบไหนดีกว่ากันสัก 1 ด่าน แต่ถ้ารัฐมนตรีไม่เข้าใจเนื้อหาเทคโนโลยีแต่พยายามเร่งเอาให้เสร็จ มันก็เละอย่างที่ได้กล่าวไปและคนที่เดือดร้อนคือประชาชน

เมื่อถามว่า มองค่าปรับ 10 เท่าอย่างไร โหดเกินไปหรือไม่ นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า มันโหดแน่นอน แต่ประเทศอื่นก็ทำเรื่องค่าปรับสำหรับผู้จงใจฝ่าฝืน เพียงแต่จะทำเมื่อไหร่ ก็จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ มีการให้ทดลองใช้ ซึ่งจะต้องออกแบบระบบให้ดีให้ผู้ที่ถูกปรับเป็นผู้ที่จงใจฝ่าฝืนจริงๆ ไม่ใช่คนที่ไม่รู้จากการประชาสัมพันธ์ไม่ดีหรือการออกแบบระบบไม่ดีทำให้เข้าช่องทางผิดจะต้องถูกปรับถึง 10 เท่า

เมื่อถามว่า ล่าสุดมีการชะลอค่าปรับไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค. คิดว่าเวลา 1 เดือนจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจระบบนี้หรือไม่ นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า เป็นการซื้อเวลาออกไป เป็นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่าทำระบบแล้วผิดพลาด แต่ช่วง 30 วันนี้ไปคิดดีๆ ถ้าทำอย่างที่ตนบอกจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน