'ปลัดสธ.' ยัน ปรับแผนยูเซ็ป เพราะโควิดไม่แรงเหมือน 2 ปีก่อน แจง ครม.ตีกลับ ไม่เกี่ยวงบประมาณ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ชุดใหญ่ ถึงการปรับรูปแบบยูเซ็ป ว่า เหตุผลหลักๆ คงเป็นเรื่องเตียง ช่วงแรกเรายังไม่รู้จัก โควิด-19 ซึ่งมีการระบาดรุนแรงสูงและมีการป่วยตายจำนวนมาก อีกทั้งในกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดูแลพื้นที่โดยตรง โรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นของมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ช่วงแรกที่จำเป็นต้องกักกันโรคและรักษา เตียงของภาครัฐไม่พอ จึงประกาศให้เป็นยูเซ็ปโควิด หากมีการติดเชื้อสามารถเข้ารับการรักษาที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปตามสิทธิ ทั้งที่คนไทยร้อยละ 99 ต่างก็มีสิทธิรักษาต่างๆ อยู่แล้ว 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ล่วงเลยมา 2 ปีกว่าความรุนแรงของโรคลดลง และเจ็บป่วยร้ายแรงลดลง กระทรวงสาธารณสุขดูเรื่องจำนวนเตียงเป็นหลัก ตอนนี้ใช้เตียงร้อยละ 50 เป็นเตียงเขียวเสียส่วนใหญ่ ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและผู้ป่วยสีแดง ใช้ไม่ถึงร้อยละ 20 จึงคิดว่าเตียงเพียงพอและต่อให้มีการปรับรูปแบบจริง ผู้ป่วยสีเหลืองและผู้ป่วยสีแดง ก็ยังจะได้รับสิทธิอยู่ แต่เพื่อความรอบคอบ ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงให้นำกลับไปทบทวน และยืนยันว่าการทบทวนครั้งนี้ไม่มีเหตุผลเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นแผนที่เราจะทำให้ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งในต่างประเทศได้ประกาศไปเยอะแล้ว แม้ตอนนี้จะยังไม่ประกาศ แต่ก็ต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุด 

วันนี้เราทราบแล้วว่าโรคลดความรุนแรงลงแล้ว ตามกลไกต่างๆ แต่หากยังเป็นโรคฉุกเฉินอยู่ แล้วก็จะปรับเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้ ปัจจุบันเราก็ให้รักษากันอยู่ที่บ้าน โดยให้อยู่โรงพยาบาลในกรณีที่จำเป็น อีกทั้งไทยไม่ได้มีโรค โควิด-19 โรคเดียวที่เราต้องดูแลรักษา ยืนยันว่าการเลื่อนเช่นนี้ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนที่มีข่าวไม่ได้นอนเตียงนั้น น่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการมากกว่า เพราะเตียงมีเพียงพออยู่แล้ว สำหรับแผนเรื่อง CI และ HI นั้น ในกทม. ถือว่าทำได้ดี คนกทม. อาจจะอยู่ในหอพักหรือคอนโดมิเนียม ที่อาจทำ HI ไม่ได้ จึงอยากจะอยู่โรงพยาบาล ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอทางเลือกคือ Hotel Isolation คือการให้อยู่ในโรงแรมแทนอยู่บ้าน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ยังต้องรอการเตรียมการ