‘วิโรจน์’ ร้อง ครม.ถอดวาระต่อสัมปทานสายสีเขียว หวั่น!! มัดมือชกค่าโดยสารแพงยาวอีก 30 ปี

‘ก้าวไกล’ ค้านสุดประตู เรียกร้อง ครม.ถอดวาระต่อสัญญาสัมปทาน รฟฟ.สายสีเขียว หวั่นมัดมือชกค่าโดยสารแพงอีก 30 ปี ย้ำ!! ต้องให้ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งมีส่วนตัดสินใจ ท้า ‘อัศวิน’ เปิดสัญญาแจงต่อประชาชน

21 ก.พ. 65 ที่อาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล รับหนังสือจาก ประจวบ ทิทอง ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบึงกุ่ม พร้อมคณะ ในฐานะภาคประชาชนเครือข่ายผู้บริโภค ที่มีข้อเรียกร้องคัดค้าน ‘การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว’ โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ 

ชัยธวัช กล่าวว่า ต้องขอบคุณเครือข่ายผู้บริโภคที่ช่วยกันผลักดันรณรงค์คัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในเวลานี้ พรรคก้าวไกลมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานและขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับภาคประชาสังคม เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีถอดถอนวาระนี้ออกจากการประชุม และขอให้เร่งรัดให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม.โดยเร็ว เพราะเรื่องนี้ควรมีการพิจารณาเมื่อมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงมีรัฐบาลใหม่
.
“เราทราบกันดีว่ารัฐบาลชุดนี้ใกล้จะหมดอายุเต็มที เรื่องใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนขนาดนี้ เราไม่อยากเห็นการกระทำเหมือนตอนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 1 อีก นั่นคือแอบต่อสัญญาทิ้งทวนภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างกำลังรอรัฐบาลชุดใหม่ เราไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง 

“พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เราจะช่วยกันกดดันเรียกร้องต่อรัฐบาลทุกวิถีทาง เพราะหากอนุญาตให้มีการต่อสัมปทานในขณะนี้ จะเป็นการมัดมือชกประชาชนให้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในราคา 65 บาท ไปอีก 30 ปี และจะเป็นการสูญเสียโอกาสครั้งใหญ่ในการทบทวนสัมปทานและการทำสัญญากับเอกชนในทุกสาย เพื่อทำให้เกิดระบบตั๋วร่วมในการลดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน จะกระทบเป็นลูกโซ่ ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (22 ก.พ. 65) ที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี เราไม่อยากเห็นเรื่องนี้เข้าสู่การประชุม จึงขอให้มีการถอดถอนวาระออกโดยเร็ว” ชัยธวัช กล่าว

ด้าน สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคณะกรรมาธิการคมนาคม ประเด็นนี้เคยมีการเรียกหน่วยงานมาชี้แจงในคณะกรรมาธิการหลายครั้ง ซึ่งในกรรมาธิการมีทั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีมติชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยต่อการขยายสัญญาที่ไม่ชอบธรรมฉบับนี้ ล่าสุดเรามีการจัดสัมมนา โดยเชิญทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วม ฝ่ายรัฐบาล เราเชิญตัวแทนรัฐมนตรีคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงก็มีการส่งตัวแทนมา พร้อมกันนั้นเราเชิญตัวแทนทุกพรรคการเมืองด้วย แต่ปรากฏว่า ในเสวนาดังกล่าวกลับไม่มี ส.ส.คนใด หรือพรรคใด กล้าพูดเปิดอกกับประชาชนว่าเห็นด้วยกับการขยายสัมปทานฉบับนี้ต่อหน้าสาธารณชน ไม่มีใครกล้าบอกว่าจะสนับสนุนเรื่องดังกล่าว กรณีนี้จึงเป็นการขยายสัมปทานอย่างน่าเกลียดที่สุด เป็นเรื่องที่จะส่งผลเสียหายอย่างมหาศาลหลายแสนล้านบาท นาทีนี้ประชาชนจะต้องเห็นความสำคัญและมาร่วมกันเรียกร้องในการหยุดการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว” สุรเชษฐ์ ระบุ 

ขณะที่ วิโรจน์ กล่าวว่า ความพยายามต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นการรวบรัด หักคอไม่เคารพคนกรุงเทพมหานคร หากปล่อยให้มีการต่ออายุสัมปทานฉบับนี้ออกไป หมายความว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึง พ.ศ. 2602 ซึ่งมีเวลานานเท่ากับ 1 ชั่วอายุการทำงานของคนหนึ่งคน เช่น ในวันนี้ อายุ 23 ปี เริ่มอายุการทำงาน ในปี 2602 จะครบอายุ 60 ปี หรือเกษียณอายุจากการทำงานก็ยังต้องจ่ายค่าเดินทางแพง เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนหรือเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะระหว่างรถไฟฟ้ากับรถเมล์ได้เลยตลอดอายุสัญญานี้

“นี่คือความพยายามที่จะทำก่อนเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะเป็นลูกน้องของคนกรุงเทพที่ถูกมอบหมายจากคนกรุงเทพทั้งหมด ให้มาปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา ผมยืนยันว่า รัฐบาลไม่ควรจะต่ออายุสัมปทานก่อนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และไม่ควรเอาเหตุนี้มาใช้ในการดึงการเลือกตั้งผู้ว่า ออกไปอย่างไม่มีกำหนด”

“เวลาเราพูดถึงการเดินทางในกรุงเทพ ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพทุกคน ไม่ได้ต้องการเห็นผู้ว่าที่สร้างรถไฟฟ้าได้อีกแล้ว แต่ต้องการผู้ว่าที่ทำให้พวกเขาทุกคนขึ้นรถไฟฟ้าได้ จ่ายค่ารถไฟฟ้าไหว ต้องการผู้ว่าที่มองเห็นระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งระบบทั้งรถไฟฟ้าและรถเมล์เชื่อมต่อกัน เพื่อให้ทุกคนมีค่าใช้จ่ายในการสัญจรที่เป็นธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสของการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจขึ้น การค้าขายของตึกแถวสองฝั่งถนนและปากท้องของพี่น้องประชาชนก็จะดีขึ้นจากการสัญจรของคนกรุงเทพ”

“แต่หากรถไฟฟ้าแพงแล้วคนต้องยอมจำนนที่จะขึ้น คนที่ได้ประโยชน์มีแต่บริษัทเดินรถไฟฟ้าอย่างเดียว พ่อค้า แม่ค้า คนที่ทำธุรกิจ คนตัวเล็กตัวน้อย จะไม่ได้ประโยชน์เกิดขึ้นเลย ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่สายสีเขียวที่ต้องบริหารจัดการใหม่ แต่จะต้องเริ่มจากสายสีเขียวที่มีผู้โดยสารเยอะที่สุด ผมยืนยันว่าสาเหตุที่บัตรแมงมุมหรือระบบตั๋วร่วมที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะผู้ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีผู้โดยสารเยอะที่สุดไม่ให้ความร่วมมือในการทำตั๋วร่วมเลย ดังนั้น สายสีเขียวต้องเป็นบันไดก้าวแรก แต่หากบันไดก้าวแรกพังไปก่อน ระบบตั๋วร่วมและระบบผู้โดยสารร่วมระหว่างรถเมล์กับรถไฟฟ้าก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย”

วิโรจน์ ยังเรียกร้องถึงความโปร่งใสในการเปิดเผยสัญญาว่า ถึงตอนนี้ เรายังไม่เห็น พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาเปิดเผยเงื่อนไขในการต่ออายุสัมปทานครั้งนี้ ในเมื่อคนกรุงเทพยังไม่เห็นในเรื่องเหล่านี้แล้วจะไปต่อสัญญาได้อย่างไร 

“งุบงิบทำแบบนี้ไม่ได้ ผมและเพื่อนส.ส.พรรคก้าวไกล จะออกมาปกป้องผลประโยชน์ของคนกรุงเทพมหานครอย่างถึงที่สุด และไม่ใช่แค่สายสีเขียว นับตั้งแต่วันนี้รถไฟฟ้าทุกสายทุกสี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อต่อรองราคาค่าโดยสารทั้งหมดให้ได้ ถ้าผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์ ต่อให้มีมติ ครม.ออกมา เรื่องนี้รับรองว่าไม่เซ็นแน่ อยากรู้ว่าจะทำยังไงต่อ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ผมและพรรคก้าวไกลจะต่อสู้ต่อกับการขยายเวลาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างถึงที่สุด” วิโรจน์ ทิ้งท้าย