15 ปี ผ่าตัดแฝดสยามรอด ‘คู่แรกของโลก’ ความสำเร็จครั้งใหญ่ของทีมแพทย์ไทย 

เมื่อ 15 ปีก่อน ได้เกิดข่าวใหญ่ที่นับเป็นความภาคภูมิใจคนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งยังเป็นเสมือนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการแพทย์ไทย ที่สามารถ ‘ผ่าตัดแฝดสยาม’ ที่มีหัวใจและตับติดกับ แยกออกจากกันจนสำเร็จได้เป็นครั้งแรกของโลก!

เชื่อว่าข่าวใหญ่นี้คนไทยทั้งประเทศได้รับรู้ผ่านจอแก้ว หรือหน้าหนังสือพิมพ์ พร้อมๆ กันเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วการผ่าตัดนั้นได้เกิดขึ้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 โดยฝีมือทีมแพทย์ไทยจากโรงพยาบาลศิริราช

ในการผ่าตัดครั้งนั้นแพทย์ศิริราช ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดแยกแฝดสยามหัวใจติดกัน ซึ่งทารกสองคนนั้นคือ “ด.ญ.ปานตะวัน-ด.ญ.ปานวาด ทิเย็นใจ” วัย 8 เดือน บุตรสาวของ น.ส.อุษา ทิเย็นใจ และนายถาวร วิบุลกุล

โดยเด็กแฝดปานวาดและปานตะวัน เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ซึ่งได้ทำการผ่าคลอดเมื่ออายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ น้ำหนักตัวแรกคลอดรวมกันประมาณ 3,570 กรัม แต่มีลักษณะพิเศษ คือ ลำตัวด้านหน้าติดกันตั้งแต่บริเวณทรวงอกลงมาถึงผนังหน้าท้อง

ซึ่งบริเวณที่ติดกัน ขนาดกว่า 17 x 8 ซ.ม. โดยทีมแพทย์ได้ทำการตรวจเพื่อสำรวจจุดที่อวัยวะของแฝดเชื่อมต่อกัน ซึ่งพบว่า หัวใจห้องบนขวาของแฝดพี่ ปานตะวัน เชื่อมกับหัวใจห้องบนซ้ายของแฝดน้อง ปานวาด ทั้งยังมีเลือดจากปานตะวันไหลผ่านมายังปานวาดตลอดเวลา

ดังนั้นทีมแพทย์จึงต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อมั่นใจว่าหัวใจของแฝดคู่นี้ ไม่ได้พึ่งพากันและกัน โดยแพทย์ได้ทำการสวนหัวใจด้วยสายสวนติดบัลลูนเพื่อปิดบริเวณรอยเชื่อมต่อของหัวใจ เสมือนเป็นการแยกหัวใจชั่วคราว ปรากฏว่าไม่เกิดผลเสียต่อทั้งคู่

เมื่อผลตรวจเป็นไปด้วยดี ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปคือการวางแผนการผ่าตัดในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ในขณะนั้นทารกอายุได้ 8 เดือน และมีน้ำหนักตัวรวมกัน 10.9 กิโลกรัม

โดยผศ.นพ.มงคล ได้กล่าวถึงความพิเศษของเคสนี้ ว่าจากการค้นรายงานทางการแพทย์ เด็กแฝดตัวติดกันจะมีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่แรกคลอดสูง แต่ก็มีโอกาสรอดชีวิตภายหลังคลอด

แต่ในกรณีแฝดที่มีหัวใจติดกัน พบว่าเคยมีการผ่าแยกแต่ ‘เสียชีวิต’ หรือ ‘รอดเพียงคนเดียว’ เท่านั้น ดังนั้นครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถผ่าแยกและรอดชีวิตทั้งคู่ 
 

แม้ว่าการผ่าตัดจะสำเร็จและเป็นไปด้วยดี แต่ยังคงต้องดูแลแฝดน้อง ปานวาด ในเรื่องหัวใจอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะมีปัญหาเรื่องการหายใจและยังมีรูรั่วที่หัวใจห้องบน ซึ่งต้องรอให้หัวใจแข็งแรงมากกว่านี้จึงสามารถผ่าตัดเย็บอีกครั้งได้

ดังนั้น การผ่าตัดแยกแฝดออกจากกันในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายทีมแพทย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากการผ่าตัดครั้งนี้ มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดความผิดพลาด และนั่นหมายถึงชีวิตของเด็กแฝดคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองที่อาจจะต้องเสียไป หรือแม้ว่าแยกออกจากกันได้ก็อาจต้องแลกมากับความพิการในภายหลัง

การผ่าตัดในครั้งนี้จึงถือว่าท้าทายและนับเป็นโชคของแฝดปานตะวันและปานวาด ที่การผ่าตัดไม่มีข้อผิดพลาดและประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะนอกจากจะรอดชีวิตทั้งคู่แล้ว ยังมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์อีกด้วย


ที่มา : https://www.komchadluek.net/today-in-history/417799


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes