‘ทิพานัน’ ซัด ‘เพื่อไทย’ จงใจบิดเบือน ปัดรัฐบาลถังแตก ยันติดโควิดยังรักษาฟรี

“ทิพานัน” ซัดเพื่อไทยฆ่าคนทั้งแผ่นดิน จงใจสื่อสารบิดเบือนรัฐบาลปลดโควิดจากการรักษาฟรี ชี้เข้าข่ายผิดพรบ.คอมพ์ฯ - ผิดมนุษยธรรม ยันหากปรับออกจากภาวะฉุกเฉิน (UCEP) เพราะสถานการณ์คลี่คลาย ย้ำผู้ป่วยโควิดยังรับการรักษาฟรีทุกคน ตามสิทธิเดิมที่มีได้

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัครส.ส.กทม. เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยมีการเผยแพร่รูปภาพตัดตอนบิดเบือนข้อความให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดว่าจะมีปลดโควิดจากการรักษาฟรีว่า เป็นการสื่อสารที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง ที่นอกจากจะแสดงถึงมาตรฐานการสื่อสารของพรรคเพื่อไทยที่ตกต่ำลงแล้ว ยังส่งผลเสียหายอย่างประเมินไม่ได้ต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนที่หลงเชื่อข้อความดังกล่าว แล้วไม่ยอมเข้ารับการรักษาเพราะคิดว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง สะท้อนว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำเพื่อประชาชนตามที่มักชอบกล่าวอ้าง 

“พรรคเพื่อไทยต้องระวังการตัดตอนข้อความไปสื่อสารเป็นภาพ แม้จะมีข้อความด้านใน แต่สะท้อนความจงใจบิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิด เพียงแค่หวังจะโจมตีทางการเมืองอย่างนั้นหรือ อาจทำให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง หมดสิ้นหนทาง ไม่กล้าไปรักษา จนอาจเป็นการฆ่าคนทั้งแผ่นดินให้ตายทั้งเป็น เป็นการผิดหลักมนุษยธรรมที่ควรพึ่งมีต่อชีวิตมนุษย์ทั้งสิ้น" น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า ที่สำคัญกรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดมาตรา 14 (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงคือ แม้ในอนาคตอาจมีการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่ (UCEP) มาเป็นการรักษาตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ผู้ป่วยโควิดก็ยังสามารถเข้ารับการรักษาฟรีทุกคน สามารถเข้ารักษาตามระบบตามสิทธิสุขภาพของแต่ละคน ได้แก่ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ และหากป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการฉุกเฉินด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว รู้สึกจะเป็นลม ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบได้ด้วยอาการฉุกเฉินวิกฤตินั้น ทางกองทุนสุขภาพของผู้ป่วยรายนั้นๆ จะตามไปดูแลให้

ทั้งนี้การพิจารณาปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่ (UCEP) ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณหรือเงินกู้ของรัฐตามที่พรรคเพื่อไทยพยายามบิดเบือนเลย แต่เป็นการพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความรุนแรงของโรคเพราะสายพันธุ์หลักที่ระบาดในขณะนี้ คือสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านในระบบ Home Isolation ได้ หรือมีเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แตกต่างจากในช่วงแรกจนถึงช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่เมื่อป่วยแล้วเชื้อจะลงปอดต้องใส่เครื่องช่วยหายใจจึงต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินเพื่อให้รีบนำผู้ป่วยเข้าไปรักษาให้เร็วที่สุด

น.ส.ทิพานัน กล่าวด้วยว่า ล่าสุดผลการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) version Legacy ที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ ม.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้วิเคราะห์ข้อมูลดูภาพรวมในมิติต่างๆ ทั้งด้านการฟื้นตัว (Global Recovery Index) และด้านความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index) และประเทศไทยได้รับการประเมินจัดอันดับให้อยู่ในอันดับ 7 จาก 184 ประเทศทั่วโลก ด้วยคะแนนการฟื้นตัว 75.70 อยู่ในกลุ่มระดับเรตติ้ง 5 คือ ประเทศที่บรรเทาการระบาดของไวรัสได้ก้าวหน้าที่สุดในโลก และด้านความรุนแรงของการระบาดน้อยในระดับกลุ่มเรตติ้ง 1 คือกลุ่มประเทศที่มีความรุนแรงของการระบาดน้อยที่สุดในโลก ซึ่งความสำเร็จนี้ต้องขอขอบคุณความเสียสละและความสามารถของทีมบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในการจัดการการแพร่ระบาดโควิด-19 ของประเทศไทย

น.ส.ทิพานัน ยังกล่าวอีกว่า ดังนั้นขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขไทยที่ได้รับการยกย่องติดอันดับโลกมาโดยตลอดทั้งในการรักษาพยาบาลโรคทั่วไปและการจัดการรักษาพยาบาลโรคโควิด ขอให้เชื่อข้อมูล 'จากแพทย์ที่มีหัวใจคือประชาชนจริงๆ' หรือสามารถติดตามข้อมูลจริงได้โดยตรงทางรัฐบาลหรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เท่านั้น