"แรมโบ้" หนุน "สมชาย” แนะ4 ข้อ ยื่นสอบส.ส.ทิ้งหน้าที่ อ้าแขน พร้อมช่วยปชช.ร้องป.ป.ช.ตรวจสอบ ชี้ ผิดจรรณยาบรรณร้ายแรง ลั่น ต้องดัดหลังส.ส.สันหลังยาว อย่าให้มีที่ยืนในสภาฯ
นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กถึงการประชุมสภาฯโดยฝ่ายค้านขอตรวจสอบองค์ประชุมรัฐบาล จนเกิดปัญหาสภาล่มบ่อยครั้ง โดยระบุว่าแก้ไม่ยาก ไม่ต้องยุบสภา แต่ให้มีคนรวบรวมข้อมูลนำข้อกฎหมาย ร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนเอาผิดจริยธรรมร้ายแรงและส่งดำเนินคดีต่อศาลฎีกา
ซึ่งมีแนวทางดำเนินการ 4 ขั้นตอน ว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายสมชาย และถึงเวลาที่ประชาชน ผู้เป็นนายจ้างตัวจริงเสียงจริง ต้องดำเนินการจัดการกับพวก ส.ส.สันหลังยาว เพราะทุกคนรับเงินเดือน ครบทุกบาททุกสตางค์ แต่ไม่ยอมทำงานตามที่นายจ้างได้ว่าจ้าง แบบนี้ส.ส.เหล่านี้ทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง ผิดต่อจรรยาบรรณ การทำหน้าที่ส.ส. ที่ได้ชื่อว่าผู้ทรงเกียรติ แต่เวลานี้หลายคนทำตัวยิ่งกว่ากุ๊ยข้างถนน ถึงเวลาทำงานก็ไม่ทำงาน และยังเอาหน้าที่การงานมาเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและนายใหญ่ แบบนี้จะอยู่ไปทำอะไร
“หากมีนักกฎหมายคนใด หรือประชาชน ที่พร้อมจะเดินหน้าดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมพร้อมที่สนับสนุนเต็มที่ จะต้องให้บทเรียนกับส.ส.สันหลังยาว ว่าถึงเวลานายจ้างตัวจริงไม่ทนอีกต่อไป ถึงเวลาที่ประชาชนต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการส.ส. ที่ทำเพื่อตนเอง และพวกพ้อง แต่ต้องการ ส.ส. และนายกฯที่ทำงานเพื่อบ้านเมือง เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แบบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หากมีนักกฎหมาย หรือ ประชาชน จะดำเนินการเรื่องนี้ สามารถประสานมาที่ผมได้ตลอดเวลา ยินดี ช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อจัดการ กับสส.บางคนบางพรรคที่ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชนเหล่านี้ไม่ให้มีที่ยืนในสภาฯอันทรงเกียรติต่อไป ”นายเสกสกล กล่าว
นายเสกสกล กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ4 ข้อ คือ 1.ยื่นคำร้องต่อสภาฯเพื่อตรวจสอบรายชื่อและพฤติกรรมว่ามีใครบ้าง ที่ไม่ร่วมประชุมไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมหรือลงมติ เป็นประจำ จนถือเป็นการจงใจทำให้สภาผู้แทนราษฎรล่ม17ครั้ง และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายหรือขัดขวางให้สภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางนิติบัญญัติได้ 2.ตรวจสอบและสรุปการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นว่า เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 234(1) และมาตรา 235 (1) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28 (1) และมาตรา 87 และมีความผิดร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ.2561 หมวด 1 ข้อ 7 หมวด 2 ข้อ 12 ข้อ 17 ข้อ21 และข้อ22 และข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรราษฎรและกรรมาธิการ พศ. 2563 ข้อ 4 ข้อ7 ข้อ8 ข้อ14 หรือไม่
3.ยื่นคำร้องต่อป.ป.ช.ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ หากปปช.มีมติชี้มูลความผิด ปปช.ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกา เพื่อวินิจฉัยต่อไป และ4.เมื่อศาลฎีกา มีคำสั่งให้รับคำร้องไว้ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที หากศาลฎีกา มีคำพิพากษาว่าเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี