ปัญหาปลอม! ‘ใบกำกับภาษี - หนังสือรับรองราคาที่ดิน’ แก้ไขได้...ถ้าอยากจะแก้!! คอร์รัปชัน...ไหมครับท่าน ตอนที่ 9

ทุก ๆ ปี มาตรการทางภาษีที่ช่วยธุรกิจและผู้มีรายได้พึงประเมิน คือ การลดหย่อนภาษี ทั้งภาษีจากฐานการบริโภค การขาย หรือการทำธุรกิจ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต้องให้ผู้ขอลดหย่อนจัดหาใบกำกับภาษี ในกรณีผู้บริโภคหากไม่ได้ขอใบกำกับภาษีก็ไม่ได้รับการลดหย่อนตามมูลค่าที่กฎหมายกำหนด ในกรณีของธุรกิจหากไม่ได้ขอใบกำกับภาษีก็จะมีปัญหาด้านการลงบัญชีต้นทุน และเกิดการตรวจสอบการทำธุรกิจ

เรื่องใบกำกับภาษีนั้น แท้จริงสามารถแยกได้ตั้งแต่ต้นทางที่ว่า ผู้ซื้อเป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นนิติบุคคล และทำให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ใบกำกับภาษีนั้นถูกต้อง ตรวจสอบได้ นอกจากนั้นภายใต้เทคโนโลยีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้โดยไม่ยากนัก การวางระบบใบกำกับภาษีนั้นจะช่วยให้ประเทศสามารถเก็บภาษีจากฐานการขายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและตรวจสอบได้ ที่สำคัญแก้ปัญหาการปลอมแปลงใบกำกับภาษีและการโกงภาษีเพื่อขอลดหย่อนได้พร้อม ๆ กัน

แม้ว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 เพิ่มความกรณีหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงการจ่ายภาษีตั้งแต่ 10,000,000 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือกรณีขอคืนภาษีโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ 2,000,000 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป ให้ถือว่าความผิดดังกล่าว เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่ออธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่ายความผิดมูลฐานส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แล้ว ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่การโกงภาษีทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้จำนวนมาก

>> กลโกงภาษีที่กรมสรรพากร และหน่วยงานที่ประกอบอาชีพกฎหมายธุรกิจได้สรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้ 
ประเภทที่ 1 มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง ลักษณะเช่นนี้ ตั้งใจเปิดบริษัทเพื่อโกงภาษีโดยเฉพาะการขอคืนภาษีจากการส่งออก จากใบกำกับภาษีปลอม
ประเภทที่ 2 การขายใบกำกับภาษี ส่วนใหญ่ประกอบกิจการจริงมีรายรับจากการขายจริง แต่ผู้ซื้อรายย่อยไม่ขอใบกำกับภาษีทำให้เกิดช่องว่าง การขายใบกำกับภาษี 

ประเภทที่ 3 การปลอมใบกำกับภาษีของบริษัทที่มีชื่อเสียง ทำให้ยากต่อการตรวจสอบปกติ
ประเภทที่ 4 การจัดตั้งบริษัทหลาย ๆ ทอด ออกใบกำกับภาษีให้กันเอง แต่ในท้ายที่สุดจะเป็นบริษัทส่งออก เพื่อขอคืนภาษี
ประเภทที่ 5 การปลอมเอกสารโดยสำนักงานบัญชีหรือสับเปลี่ยนใบกำกับภาษี เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง เป็นต้น
ประเภทที่ 6 การออกใบกำกับภาษีโดยไม่ถูกกฎหมาย ฯลฯ

ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าเกิดจากการออกใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง - ไม่ถูกคน ทั้งสิ้น!! 
ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) และปรับระบบการออกใบกำกับภาษี ณ ที่จ่ายครับ นอกจากนั้น การพัฒนาระบบบัญชีที่สามารถประยุกต์เชื่อมต่อเพื่อส่งข้อมูลทางภาษีได้ก็จะช่วยผู้ประกอบการรายย่อยในการปฏิบัติให้ถูกต้องทางภาษีและลดผลกระทบจากความผิดพลาดและการตรวจสอบจากภาครัฐที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนในการประกอบธุรกิจ

ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชน (Block Chain) สามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินได้ การเริ่มต้นในการให้แต่ละธุรกิจใช้ระบบการออกใบกำกับภาษี ณ ที่จ่าย ทุกธุรกรรม จะทำให้เป้าหมายของการได้รับภาษีมีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น เพราะสามารถขจัดธุรกิจที่เป็นหุ่นเชิด หรือธุรกิจลม ได้หมดสิ้น และการตรวจสอบได้ของภาษีนั้นจะยังประโยชน์ยิ่งเมื่อภาครัฐใช้มาตรการทางภาษี เช่น การลดหย่อน การอุดหนุน (เช่น คนละครึ่ง เราชนะ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น) ข้อมูลทางภาษีนั้นหากบริหารจัดการดี จะยังประโยชน์มหาศาลทั้งกับภาครัฐเอง และประชาชนผู้ต้องการเข้าถึงสวัสดิการจริง ๆ นอกจากนั้นจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในทางอ้อมได้ด้วย

ก้าวแรกคือ การจัดการระบบภาษี ระบบบัญชี การเชื่อมต่อ และการเปิดเผยข้อมูลครับ
อีกประเด็นหนึ่งที่เขียนไว้ในตอนที่แล้ว เรื่อง หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินอันเป็นเอกสารสิทธิของทางราชการ ที่เป็นเอกสารเท็จ/ปลอม (Click เพื่ออ่าน >> https://thestatestimes.com/post/2021112706) นั้น ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยกลไกเดียวกัน คือ การเปิดเผยข้อมูล และการเชื่อมต่อข้อมูลกับบัญชีหลักประกัน เนื่องจากกรมที่ดินและกรมธนารักษ์จะได้ประโยชน์จากการประกาศและเปิดเผยต่อสาธารณะสำหรับราคาประเมินที่ดิน รวมถึงการอัปเดตข้อมูลเหล่านั้นหากมีการซื้อขายจริงและเสียภาษีจริง ไม่ใช่ว่า ราคาประเมินที่ดินต่ำ เพื่อเสียภาษีต่ำ แต่นำไปเป็นหลักประกันมูลค่าสูงตอนขอกู้กับสถาบันการเงินหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีมาตรฐานการประเมินหลักทรัพย์ที่มีมาตรฐานแตกต่างกัน ปัญหานี้นอกจากภาครัฐจะได้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้กลไกของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สะท้อนความเป็นจริง และลดความเหลื่อมล้ำของการมีหลักทรัพย์ประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า กรณีหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินอันเป็นเอกสารสิทธิของทางราชการ ที่เป็นเอกสารเท็จ/ปลอมนั้น มีสองประเภท กล่าวคือ ทั้งปลอมเองโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีขบวนการที่เจ้าหน้าที่ที่ดินนอกแถวร่วมกันปลอมซึ่งประเด็นหลังเข้าข่ายความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน และเมื่อสถาบันการเงินที่เข้าไปเกี่ยวข้องและไม่แก้ไขปัญหาความบกพร่องดังกล่าว ก็ทำให้ต้องพัวพันกับกรณีการฟอกเงินโดยปริยาย

ถ้าการโกงภาษี การโกงมูลค่าที่ดิน เข้าข่ายเป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบ และอาจเข้าข่ายการฟอกเงินแล้วไซร้ การแก้ปัญหาโดยการเปิดเผยข้อมูล และต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลต่ำ ก็เป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes