“ปลอม - เท็จ”!! ระเบิดเวลา ‘สหกรณ์ออมทรัพย์’ คอร์รัปชัน...ไหมครับท่าน ตอนที่ 8

สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร อยู่ภายใต้กฎหมายสหกรณ์ มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รับผิดชอบทำหน้าที่ “นายทะเบียน” ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ในด้านดี สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสถาบันการเงินที่เป็นการจัดสวัสดิการภายในให้กับหน่วยงาน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้สมาชิก ส่งเสริมการออม และเป็นแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยราคามิตรภาพให้แก่สมาชิก ในขณะที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าตลาดในการระดมเงินฝาก หรือจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับการฝากธนาคาร ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเกษียณอายุ

แม้ว่าในระยะหลังข่าวคราวของวงการสหกรณ์จะไม่สู้ดี เนื่องจากมีบางสหกรณ์ที่ไม่ทำหน้าที่ตามปรัชญาและอุดมการณ์ของสหกรณ์ จึงเกิดกรณีสลากกินแบ่งรัฐบาล กรณีคลองจั่น กรณีรถไฟ ซึ่งทั้งหมดพัวพันกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของคณะกรรมการดำเนินการ ส่วนกรณีทั่วไปที่ไม่เป็นข่าว เช่น การปลอมลายมือชื่อ การโกงของเจ้าหน้าที่ ความเสียหายยังจำกัดวง และสามารถแก้ไขได้ แต่ความน่าเชื่อถือของสหกรณ์นั้น ๆ จะลดลงไปเป็นลำดับ

ในบทบาทหนึ่งของสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้นั้น สหกรณ์มีบทบาทในการส่งเสริมและช่วยเหลือให้สมาชิกมีบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี สหกรณ์ส่วนใหญ่จึงมักให้สินเชื่อระยะยาวกับสมาชิกที่ซื้อหรือสร้างบ้าน เพื่อให้ผ่อนรายเดือนน้อย ๆ มีการสร้างฐานะและมีสวัสดิการที่ดีขึ้น

ในการกู้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินตามโครงการจัดสรรส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากราคาที่ดิน และการปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้เอกสารต่าง ๆ ถูกต้องตามกฎหมายสามารถนำไปยื่นกู้กับสถาบันการเงินได้ และการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยก็ทำให้สมาชิกสหกรณ์ที่มีเครดิตดี มีความสามารถชำระหนี้ ก็เลือกกู้กับสถาบันการเงินหรือธนาคารทั่วไป ในขณะที่สหกรณ์ส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยไม่ยืดหยุ่นนัก และบางแห่งมีอัตราเดียวที่สูงกว่าธนาคารทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ จะเห็นได้ว่า กรณีเช่นนี้จะก่อให้เกิดปัญหาคลาสสิกที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Adverse Selection หรือ การเลือกในทิศทางที่แย่

เรื่อง การเลือกในทิศทางที่แย่ รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ อธิบายไว้โดยใช้ตัวอย่างของระบบประกันภัยหรือประกันสุขภาพ ที่ว่า มีคนสุขภาพดีและคนป่วยอยู่ปนกัน หากบริษัทประกันเก็บเบี้ยประกันราคาเดียวจะทำให้มีแนวโน้มจะได้คนป่วยทำประกันมากกว่าคนสุขภาพดี แต่หากบริษัทประกันเก็บเบี้ยประกันตามความเสี่ยงทางสุขภาพหรือประวัติการขับรถ ก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหา การเลือกในทิศทางที่แย่ 

รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ

ดังนั้น สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ทำการปล่อยกู้นั้น จึงต้องคำนึงถึงปัญหาคลาสสิกนี้ เพราะมิเช่นนั้น การที่มีผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง ๆ รวมกันเป็นจำนวนมาก จะทำให้มีความเสี่ยงในการบริหารเงิน และต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งกระทบต่อการจ่ายเงินปันผล

ผู้กำกับดูแลสหกรณ์ จึงเคร่งครัดในเรื่องการปล่อยกู้ตามวัตถุประสงค์ และให้กรรมการและฝ่ายจัดการที่เกี่ยวข้องคอยกวดขันการปล่อยกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมถึงให้กรรมการคอยสอดส่องไม่ให้หลักประกันบกพร่อง โดยกำหนดเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการ

ดังนั้น เมื่อมีหน้าที่จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม มีสหกรณ์จำนวนหนึ่ง ผู้รับผิดชอบไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถทำให้ความเสี่ยงของการบริหารเงินสหกรณ์สูงขึ้น ประกอบกับ ภาระของผู้กำกับดูแลมีมากจึงทำให้ไม่ได้ลงรายละเอียดนั้น ๆ

ล่าสุด บางสหกรณ์ พบการใช้เอกสารสิทธิของทางราชการที่เป็นเอกสารเท็จ/ปลอม มายื่นประกอบการขอเงินกู้ประเภทพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรรมการบางคนมี “อาชีพ” ซื้อขายที่ดิน และก็ชวนพรรคพวกซึ่งเป็นกรรมการและสมาชิกทั่วไปตั้งก๊วนหมุนเวียนจัดสรรที่ดินเป็นล่ำเป็นสัน ราคาที่มายื่นขอกู้ก็สูงกว่าราคาที่แสดงในฐานข้อมูลของกรมที่ดินและ/หรือกรมธนารักษ์ ประเด็นนี้ คือ “การทุจริตอย่างชัดแจ้ง”

จากการสืบทราบ พบว่า หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินของทางราชการนั้น เป็นเอกสารที่มีการไปซื้อมา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเอกสารปลอม/เท็จ และทำออกมาโดยข้าราชการนอกแถวไม่กี่คน 

หากย้อนอดีตกลับไปในสมัย “ต้มยำกุ้ง” สาเหตุหนึ่งที่สำคัญของวิกฤติ ก็คือ กรณีธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ “ล้ม” เพราะมีการนำที่ดินราคาถูกมาเข้าจำนองแล้วนำเงินออกเกินมูลค่าที่ดินอย่างมาก และเมื่อไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ก็เกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ และเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

ในกรณีของสหกรณ์แห่งนั้น การปล่อยให้มีการทุจริตโดยกรรมการและสมาชิก โดยการใช้เอกสารปลอมยื่นกู้ โดยคนที่จงใจและมีเจตนาแสวงหาประโยชน์จากสหกรณ์นั้น ไม่สมควรที่จะอยู่ในขบวนการสหกรณ์ เพราะนอกจากเป็นความอาญาแล้ว กรณีนี้ยังขัดต่อข้อบังคับของสหกรณ์ ขัดกับกฎกระทรวงที่ห้าม “กรรมการหากินกับสมาชิก” พูดง่าย ๆ คือ ทำความผิดหลายกระทง

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการสอบข้อเท็จจริง พบพฤติกรรมที่เป็นเครือข่ายชัดเจน มีการใช้สิทธิกู้แทนกัน มีการยื่นขอกู้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ซื้อที่ดินสร้างอาคาร ซึ่งจะได้รับสิทธิผ่อนนาน แต่กลับไม่สร้างบ้าน และไม่มีการกวดขันแต่อย่างใด ที่น่ากลัวคือ มีกรณีเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับเอกสารปลอมอาจจะมากกว่า 100 สัญญา

กรรมการที่เหลืออยู่ก็ไม่ควรเห็นชอบกับการกระทำผิดนั้น เพราะปัญหาเรื่อง หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินของทางราชการที่เป็นเอกสารปลอม/เท็จ ถือเป็น “ระเบิดเวลา” ชั้นดี ในการบ่อนทำลายสหกรณ์ ทำลายความน่าเชื่อถือ คุณงามความดีที่สั่งสมมา และท้ายที่สุด ทำลายระบบสหกรณ์

เท่าที่ทราบ มีการพูดว่า “ใคร ๆ ก็ทำกัน” ในเรื่องการกู้แทนกันหรือยื่นกู้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งแท้จริงแล้ว เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการที่เกี่ยวข้องในการกวดขันวัตถุประสงค์การกู้ ซึ่งเมื่อรับหน้าที่หรือมีหน้าที่ก็ต้องทำหน้าที่ ทำให้หวนนึกถึงคำกล่าวของ ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อดีตคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด ที่ว่า “สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น”


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32