"กมธ.พ.ร.บ.ตำรวจ" จ่อ สรุปเนื้อหา 15 ก.พ. เผย มีมติ เพิ่มอำนาจให้ ก.ตร. ร่วมเห็นชอบตั้ง ผบ.ตร.
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... รัฐสภา ที่มีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว. รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ....ทำหน้าที่ประธาน ว่า ได้เข้าสู่การพิจารณาเนื้อหาที่ค้างการพิจารณา และในวันที่ 14-15 ก.พ.นี้ ได้นัดประชุมเพื่อทบทวนเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ตำรวจทั้งฉบับ
สำหรับรายละเอียดที่สำคัญ ซึ่งกมธ.มีมติแก้ไข คือ ประเด็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ตามเนื้อหาที่ผ่านขั้นรับหลักการ กำหนดให้ ก.ตร. มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์บริหารราชการตำรวจ และกำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รวมถึงการบริหารงานบุคคล จัดระบบราชการตำรวจ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ทั้งนี้ กมธ.มีมติกำหนดโครงสร้างองค์กรบริหาร สตช. จำนวน 2 องค์กร คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และ ก.ตร.โดยในบทบัญญัติของ ก.ต.ช. ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ได้ให้หน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบาย และบริหารราชการตำรวจ รวมถึงพัฒนาระบบงานตำรวจ ติดตามและประเมินผล สำหรับกรรมการ ก.ต.ช. นั้น กมธ.ยังไม่มีข้อยุติ และวางประเด็นพิจารณาไว้ ดังนี้
1.ควรกำหนดให้รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกฯ มอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ ก.ต.ช.หรือไม่ 2.ควรกำหนดจำนวนรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกฯ มอบหมาย เป็นรองประธาน ก.ต.ช. หรือไม่ 3.ควรกำหนดให้นายกสภาทนายความ ตัวแทนภาคประชาชนและท้องถิ่น เป็นกรรมการโดยตำแหน่งหรือไม่ และ 4.ควรกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมาประชุมด้วยตนเอง จะมอบหมายให้บุคคลอื่นมาประชุมแทนมิได้หรือไม่
ขณะที่ ก.ตร. นั้น กมธ.ได้มีมติ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. เช่นเดิม และแก้ไขในส่วนของกรรมการอื่นๆ โดยเพิ่มเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาเป็น ก.ตร.ด้วย และให้เลขาธิการ ก.พ.ร. กำหนดจำนวนรองผบ.ตร.ตามลำดับอาวุโส จำนวน 5 คนให้เป็นก.ตร.ด้วย และได้ตัดกรรมการในส่วนของปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมออก รวมถึงเพิ่มอำนาจให้กับก.ตร.ในการให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งผบ.ตร.ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
ในส่วนของการเลือกกรรมการ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒินั้น กมธ.มีความเห็นในเบื้องต้นว่า ควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมดำเนินการ และการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ได้เชิญตัวแทนของ กกต.ร่วมประชุม และได้รับคำชี้แจงว่า หากให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจในการจัดให้มีการเลือกและประกาศผลการเลือกกรรมการ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.มีความพร้อม และหากกมธ.ต้องการให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัย กรณีมีการคัดค้านผลการเลือกกรรมการ ก.ตร.ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ จะต้องเขียนเนื้อหาไว้ในกฎหมายด้วย แต่กรณีดังกล่าวกมธ.ยังไม่มีมติใดๆ ที่ชัดเจน