'กระทรวงแรงงาน' เตือน 'แรงงานไทย' อย่างหลงเชื่อนายหน้าเถื่อนแอบอ้างพาทำงานซาอุฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการ กรมการจัดหางาน แนะวิธีเดินทางทำงานต่างประเทศถูกกฎหมาย หลังนายหน้าเถื่อน ระบาดเหนือ – อีสาน หลอกคนหางาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการร่วมคณะกับท่านนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย และได้มีการเจรจาหารือ เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้เดินทางไปทำงาน ซึ่งทางการของซาอุดีอาระเบียให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยที่ซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานจากต่างชาติเข้าไปทำงานถึง 8 ล้านคน

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดส่งแรงงาน ในส่วนของประเทศไทย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มีการพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ หากได้ข้อสรุปก็จะมีการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม แห่งซาอุดีอาระเบีย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

“การดำเนินการเพื่อให้เกิดการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานซาอุดีอาระเบีย เป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญมาก เพราะถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย และแรงงานไทยจำนวนมากที่ต่างรอคอยการเดินทางไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้มีกลุ่มมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสหลอกลวงคนหางานว่าสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้ โดยกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้กำลังระบาดมากแถบภาคเหนือและอีสาน ซึ่งล่าสุดได้สั่งการกรมการจัดหางานประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงดังกล่าวในทุกช่องทาง”

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มอบหมาย  นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ประชุมการเตรียมความพร้อมในการจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และแนวทางป้องกันการหลอกลวง รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องกลวิธีที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้หลอกลวงประชาชนคนหางาน ร่วมกับกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กองบริหารแรงานไทยไปต่างประเทศ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภาคเหนือและสำนักงานจัดหางานจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด

โดยเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน จะลงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการถูกหลอกลวงสูง เพื่อให้คำแนะนำ และชี้แจง ให้ความรู้กับประชาชนที่สนใจการไปทำงานต่างประเทศ และผู้นำท้องถิ่นให้มีความเข้าใจขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ทราบถึงกลวิธีการหลอกลวงของกลุ่มผู้หลอกลวงคนหางาน โดยเป็นการสร้างแนวร่วมระหว่างชุมชนกับหน่วยราชการเพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลให้ แก่ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนสอดส่องดูแล แจ้งข้อมูล เบาะแส พฤติการณ์ของสาย / นายหน้าเถื่อน 

“กรมการจัดหางานขอยืนยันว่าขณะนี้ข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย ยังอยู่ระหว่างการร่วมกันพิจารณาจากทั้ง 2 ประเทศ โดยกรมการจัดหางานได้ประสานสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อขอทราบรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงาน ประเภทงาน ระดับทักษะฝีมือ และคุณสมบัติเบื้องต้นของแรงงานที่นายจ้างซาอุดีอาระเบียมีความต้องการ

เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานได้เตรียมความพร้อมตนเอง และได้มอบหมายให้จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดการประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่คนหางานในเขตพื้นที่รับผิดชอบและประสานหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพและทักษะฝีมือแก่คนหางานในการรองรับความต้องการของนายจ้างในซาอุดีอาระเบีย พร้อมทั้งเปิดช่องทางรับลงทะเบียนแรงงานไทยที่สนใจไปทำงานในซาอุดีอาระเบียผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th

ทั้งนี้ขอให้คนหางานติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิด ทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th/prd และอย่าได้หลงเชื่อผู้แอบอ้างว่ามีเส้นสายกับกรมการจัดหางานสามารถพาไปทำงานประเทศซาอุฯได้  โดยวิธีที่แรงงานไทยสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย มี 5 วิธี ได้แก่1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ  และ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว