ครม.เห็นชอบ! แนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เน้น รองรับพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย-ยกระดับนวัตกรรมการศึกษา
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบมอบอำนาจให้สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา และมีคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา แทน ครม. โดยให้ถือว่าการอนุมัติและความเห็นชอบดังกล่าวเป็นมติของครม.
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันการศึกษาอื่น ทั้งรัฐและเอกชน ทั้งในสังกัดและนอก อาทิ 1.การทดลองใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่อาจยังไม่มีมาตรฐาน การอุดมศึกษาในปัจจุบันมารองรับ เช่น ใช้ระบบออนไลน์ แทนการเรียนในห้อง และจัดการเรียนการสอนลักษณะหลักสูตรระยะสั้นประกอบการเรียนรู้ทฤษฎีร่วมกับการฝึกปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรม และจับคู่ภาคเอกชนเพื่อร่วมผลิตนักศึกษา เป็นต้น 2.ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดต่อการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ โดยมีกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องรวม เช่น กฎกระทรวงว่าด้วยด้านมาตรฐานการจัดการระดับอุดมศึกษา กฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา กฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา เป็นต้น
เพื่อให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมการผลิตบัณฑิตมากขึ้น และให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่เป็นที่ยอมรับจากภาคอุตสาหกรรม เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาได้ รวมทั้งลดจำนวนหน่วยกิตในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปและลดเวลาหลักสูตรในการเรียนให้เหลือเพียง 3 ปี หรือน้อยกว่า เป็นต้น และจะมีผลกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต่อไป โดยระหว่างการจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ หากสถาบันอุดมศึกษาต้องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรา 69 พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นการยกเว้นมาตรฐานการอุดมศึกษาสำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการอนุมัติเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการอุดมศึกษาใหม่
3.สภานโยบายฯ ได้ประกาศข้อกำหนด เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2564 (ประกาศ ณ วันที่ 27 ก.ย.64) เพื่อใช้เป็นแนวทางให้สถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาและระดับต่ำกว่าปริญญาทั้งรัฐและเอกชนที่อยู่ในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา สามารถเสนอขอจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาได้ 4.มีกลไกและมาตรการในการกำกับติดตามประเมินผล และพัฒนาแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะมีการติดตามตรวจสอบและประเมินผลโดยคณะผู้ประเมินผลอิสระ
“การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา จะเกิดประโยชน์ในการผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเกิดนวัตกรรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ตอบโจทย์รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น สามารถจัดการศึกษาแก่ผู้เรียนในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยได้”